ประโยชน์ของคะน้า ผักใบเขียวเปี่ยมคุณค่า บำรุงสายตา ต้านมะเร็ง

ประโยชน์ผักคะน้า

ผักคะน้าสรรพคุณไม่ธรรมดา จัดเป็นผักเพื่อสุขภาพตัวเด็ดที่หากินง่าย ประโยชน์ของคะน้าก็ดีต่อสุขภาพอีกหลายประการ

ผักคะน้า

 

ผักใบเขียวอย่างคะน้า เป็นผักที่อยู่ที่เมนูอาหารไทยหลายเมนูด้วยกัน อีกทั้งคะน้ายังเป็นผักที่ให้ผลผลิตทุกฤดู เรียกได้ว่าหาประโยชน์ของผักคะน้ามากินกันได้ทุกวัน แต่หากใครยังไม่รู้จักประโยชน์ของผักคะน้าว่ามีสรรพคุณดีอย่างไร วันนี้ได้นำประโยชน์ของคะน้า ผักใบเขียวเปี่ยมคุณค่า มาบอกต่อแล้วค่ะ

คะน้า ผักใบเขียวเพื่อสุขภาพ

          คะน้ามีชื่อภาษาอังกฤษว่า Chinese Kale คะน้าจัดเป็นพืชใบเขียวที่ใบมีสีเขียวจัด และเป็นผักที่กินได้ทั้งใบไปจนถึงก้าน ผักคะน้ามีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ทั้งคะน้าไทย คะน้าฮ่องกง ซึ่งขนาดต้นคะน้าและความกรอบ หวาน อาจแตกต่างกันเล็กน้อย ทว่าลักษณะและรสชาติโดยรวมก็ยังคงเป็นผักคะน้า พืชในตะกูลเดียวกันอยู่นั่นเอง
คะน้า สารอาหารดี ๆ มีไม่น้อย
          จากข้อมูลของกองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แสดงคุณค่าทางโภชนาการของผักคะน้าปริมาณ 100 กรัม ดังนี้

          – พลังงาน 31 กิโลแคลอรี

– น้ำ 92.1 กรัม

– โปรตีน 2.7 กรัม

– ไขมัน 0.5 กรัม

– คาร์โบไฮเดรต 3.8 กรัม

– ใยอาหาร 1.6 กรัม

– เถ้า 0.9 กรัม

– แคลเซียม 245 มิลลิกรัม

– ฟอสฟอรัส 80 มิลลิกรัม

– ธาตุเหล็ก 1.2 มิลลิกรัม

– เบต้าแคโรทีน 2,512 ไมโครกรัม

– วิตามินเอ 419 ไมโครกรัม

– ไทอะมิน 0.05 มิลลิกรัม

– ไรโบฟลาวิน 0.08 มิลลิกรัม

– ไนอะซิน 1.0 มิลลิกรัม

– วิตามินซี 147 มิลลิกรัม

ประโยชน์ของคะน้า ผักใบเขียวเปี่ยมสรรพคุณ

1. เสริมภูมิคุ้มกัน

          คะน้าเป็นผักที่มีวิตามินเอสูง แถมยังมีวิตามินซีอีกไม่น้อย ดังนั้นการรับประทานผักคะน้าจึงช่วยเพิ่มสารอาหารที่ดีต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคต่าง ๆ โดยลดโอกาสเกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อ และลดความเสี่ยงอาการเจ็บป่วยโดยรวมได้
2. บำรุงสายตา
 
          สารต้านอนุมูลอิสระในผักคะน้าที่ชื่อว่าเบต้าแคโรทีน เป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ หมายความว่าสารต้านอนุมูลอิสระชนิดนี้สามารถเปลี่ยนตัวเองเป็นวิตามินเอ ส่งผลดีต่อการบำรุงดูแลดวงตาในด้านระบบประสาทตาและการมองเห็นได้ อีกทั้งยังมีสารลูทีน (Lutein) ซึ่งงานวิจัยพบว่า การทานอาหารที่มีลูทีนสูงจะช่วยลดความเสี่ยงโรคต้อกระจกลงถึง 20% เลยนะคะ

 

3. เสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก

          จะเห็นได้ว่าคะน้าเป็นผักที่มีปริมาณแคลเซียมค่อนข้างสูง จึงจัดได้ว่าคะน้าเป็นอาหารเสริมแคลเซียมที่ดีชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะคนที่แพ้นมวัวจะหันมารับแคลเซียมจากผักอย่างคะน้าก็ได้นะคะ

4. บำรุงเลือด ป้องกันโลหิตจาง

ในคะน้ามีโฟเลตและธาตุเหล็กสูง ซึ่งสารทั้งสองชนิดนี้เป็นสารอาหารจำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง คะน้าจึงเป็นผักใบเขียวที่ช่วยบำรุงเลือด และลดความเสี่ยงภาวะโลหิตจางได้

5. บำรุงผิวพรรณ เพิ่มคอลลาเจนให้ผิว

          นอกจากสารต้านอนุมูลอิสระอย่างเบต้าแคโรทีนแล้ว ในผักคะน้ารวมไปถึงผักใบเขียวทุกชนิดยังมีสารลูทีน ซึ่งเป็นสารกระตุ้นการผลิตคอลลาเจนในเซลล์ผิว ช่วยบำรุงผิวพรรณให้เรียบเนียนไร้ริ้วรอยแห่งวัยโดยไม่ต้องพึ่งสารเคมีหรือกระบวนการศัลยกรรมใด ๆ อีกทั้งวิตามินซีในผักคะน้ายังจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้เนื้อเยื่อมีความยืดหยุ่นมากขึ้นด้วยนะคะ
6. ช่วยกระตุ้นการขับถ่าย

          ผักคะน้ามีไฟเบอร์สูงมาก โดยเฉพาะในส่วนของใบคะน้า ดังนั้นการรับประทานผักคะน้าในปริมาณที่เหมาะสมก็มีส่วนช่วยเพิ่มใยอาหารให้ลำไส้ กระตุ้นระบบขับถ่ายให้มีความคล่องตัวมากขึ้นได้เหมือนกัน

7. ลดความเสี่ยงมะเร็ง 

          คะน้าเป็นผักที่มีวิตามินเอและสารต้านอนุมูลอิสระสูงมาก ซึ่งวิตามินเอที่เราได้จากคะน้ามีคุณสมบัติเป็นสารต้านการเกิดเซลล์มะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ มะเร็งปอด และมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และยังมีวิตามินซีช่วยส่งเสริมภูมิคุ้มกันในร่างกาย ลดโอกาสเกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อและเซลล์ต่าง ๆ ได้อีกด้วย
โทษของคะน้า อะไรที่ควรระวัง 

          ในผักคะน้าจะมีสารกอยโทรเจน (Goitrogen) สารที่มีส่วนยับยั้งการสร้างฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ โดยเฉพาะหากกินผักคะน้าดิบ ๆ ในปริมาณมาก อาจทำให้สารกอยโทรเจนเข้าไปขัดขวางการทำงานของระบบเมตาบอลิซึม จนก่อให้เกิดอาการท้องอืดตามมาได้ ทว่าหากนำผักคะน้าไปปรุงสุก สารกอยโทรเจนก็จะละลายหายไปกับความร้อน เราก็จะกินคะน้าได้อย่างสบายท้องมากขึ้นนะคะ

อย่างไรก็ตามคะน้าจัดเป็นผักที่มีสารตกค้างค่อนข้างสูง เนื่องจากคะน้าเป็นพืชที่ชอบมีศัตรูพืชมารบกวน เกษตรกรผู้ปลูกผักคะน้าจึงอาจจำเป็นต้องใช้ยากำจัดศัตรูพืชกับคะน้ามากขึ้น ส่งผลให้คะน้ามีสารตกค้างมาขึ้นไปด้วย ทว่าในปัจจุบันเกษตรอินทรีย์และการปลูกผักออร์แกนิกแพร่หลายมากขึ้น ก็หวังว่าผู้บริโภคอย่างเรา ๆ จะมีทางเลือกซื้อคะน้าที่ปลอดสารพิษกันมาบริโภคกันมากขึ้นตามไปด้วยนะคะ

ขอบคุณรูปภาพจาก : สุขภาพ – Kapook

 

Facebook
Twitter
LinkedIn
Telegram
Pinterest
5/5