“ย่านาง สมุนไพรมหัศจรรย์” เกี่ยวกับประโยชน์และสรรพคุณมากมายของย่านาง ย่านาง เป็นสมุนไพรที่ถูกนำมาใช้ตั้งแต่โบราณในการรักษาโรคต่าง ๆ รวมถึงการนำมาทำอาหารหลากหลายชนิด ย่านาง ถูกใช้อย่างแพร่หลายในการรักษาแบบแพทย์ทางเลือก เพื่อรักษาอาการป่วยต่าง ๆ รวมทั้งการปรับสมดุลในร่างกาย เรามาทำความรู้จักกับพืชชนิดนี้กันให้มากกว่านี้ดีกว่า
ย่านาง หรือใบย่านาง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Tiliacora triandra (Colebr.) Diels มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Bamboo grass ทางภาคเหนือเรียกว่า จ้อยนาง ภาคกลางเรียก เถาย่านาง เถาวัลย์เขียว และภาคใต้จะเรียกว่า ยาดนาง เป็นพืชในตระกูลไม้เลื้อย กิ่งอ่อนมีขนอ่อนปกคลุม เมื่อแก่แล้วผิวค่อนข้างเรียบ รากมีขนาดใหญ่ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกติดกับลำต้นแบบสลับ รูปร่างใบคล้ายรูปไข่หรือรูปไข่ขอบขนานปลายใบเรียว ฐานใบมน ขนาดใบยาว 5-10 ซม. กว้าง 2-4 ซม. ขอบใบเรียบ ก้านใบยาว 1 ซม. ดอกออกตามซอกโคนก้านใบเป็นช่องยาว 2-5 ซม. ช่อหนึ่ง ๆ มีดอกขนาดเล็กสีเหลือง 3-5 ดอก ดอกแยกเพศอยู่คนละต้นไม่มีกลีบดอก ผลรูปร่างกลมรีขนาดเล็ก สีเขียว เมื่อแก่กลายเป็นสีเหลืองอมแดงและกลายเป็นสีดำ ย่านางเป็นพืชที่มีฤทธิ์เย็น สามารถช่วยดับพิษร้อนต่าง ๆ ได้
-คุณค่าทางโภชนาการ
ใบย่านาง 100 กรัม ประกอบด้วยพลังงาน 95 กิโลแคลอรี่ เส้นใย 7.9 กรัม เหล็ก 7.0 มิลลิกรัม แคลเซียม 115 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 11 มิลลิกรัม ไนอาซิน 1.4 มิลลิกรัม วิตามินซี 141 กรัม โปรตีน 15.5% วิตามินเอ 30625 IU วิตามินบี 1 0.03 มิลลิกรัม วิตามินบี 2 0.36 มิลลิกรัม โพแทสเซียม 1.29% และแทนนิน 0.21%
-ใบย่านาง สรรพคุณนั้นมีหลากหลาย เพราะเป็นสมุนไพรเย็น มีคลอโรฟิลล์สดจากธรรมชาติ และยังมีวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกายอีกมากมาย เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินซี ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก เบต้าแคโรทีนในปริมาณค่อนข้างสูง โดยเป็นสมุนไพรที่ใครหลาย ๆ คนต่างก็คุ้นเคยกันดี เพราะนิยมนำมาเป็นเครื่องปรุงรสช่วยเพิ่มความกลมกล่อมของอาหาร เช่น แกงหน่อไม้ ซุปหน่อไม้ แกงเลียง แกงหวาน เป็นต้น
-รากของย่านาง นิยมนำมาใช้เพื่อแก้อาการไข้ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นไข้พิษ ไข้เหนือ ไข้หัด ไข้ฝีดาษ ไข้กาฬ หรือ ไข้ทับระดู และอาการเบื่อเมา นอกจากนี้รากของย่านางยังเป็นหนึ่งในส่วนประกอบของตำรับยาเบญจโลกวิเชียร หรือยา 5 ราก หรือแก้วห้าดวง
-เถาของย่านางช่วยลดความร้อนและแก้พิษตานซาง และยังมีข้อมูลทางเภสัชวิทยาระบุอีกว่า สามารถช่วยต้านมาลาเรีย และยับยั้งการหดเกร็งของลำไส้ได้
-ข้อควรระวัง
ถึงแม้ว่าใบย่านาง จะอุดมไปด้วยประโยชน์และคุณค่าทางสารอาหารมากมาย แต่ก็ไม่เหมาะกับผู้ที่ป่วยด้วยโรคไตเป็นอย่างมาก นั่นก็เพราะว่าใบย่านางมีฟอสฟอรัส วิตามินเอ และโพแทสเซียมสูง ซึ่งปกติไตจะต้องขับสารเหล่านี้ที่เกินจากความต้องการของร่างกายออกไป โดยผู้ที่ป่วยด้วยโรคไตจะไม่สามารถขับสารเหล่านี้ทิ้งตามปกติได้ ทำให้เกิดการสะสมจนเป็นอันตรายต่อร่างกายได้นั่นเอง
ใบย่านางเป็นสมุนไพร ที่ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยเพิ่มความสดชื่นให้แก่ร่างกาย มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยชะลอความชรา และสามารถป้องกันโรคร้ายได้หลายอย่าง การทานใบย่านางในปริมาณที่เหมาะสม จึงส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวมได้อย่างแน่นอน
ขอขอบคุณรูปภาพจาก : ออกกำลังกาย – Kapook