อากาศหนาว และผลกระทบต่อสุขภาพ

อากาศหนาว สุขภาพ

อากาศหนาวอาจเป็นสิ่งที่หลายคนชอบและอยากให้มีอยู่นาน ๆ โดยเฉพาะเมืองร้อนอย่างประเทศไทย เพราะอากาศหนาวทำให้รู้สึกเย็นสบาย และไม่มีเหงื่อออกให้เหนียวตัว แต่ใช่ว่าความหนาวเย็นจะส่งผลดีเสมอไป เพราะอากาศลักษณะนี้อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้เช่นกัน

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

 

โดยผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นมีตั้งแต่ไม่รุนแรงอย่างอาการผิวแห้ง ไปจนถึงอาการร้ายแรงที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น ก่อนออกไปเผชิญความเหน็บหนาว ไม่ว่าทั้งตามฤดูกาลหรือตามการเดินทางไปยังท้องที่ต่าง ๆ จึงควรศึกษาผลกระทบและหาวิธีรับมืออากาศหนาวให้ดีก่อน

ผลกระทบที่เกิดต่อร่างกายจากอากาศหนาว

อากาศที่หนาวเย็นอาจทำให้อุณหภูมิภายในร่างกายเปลี่ยนแปลงไป จนอาจเกิดความผิดปกติต่าง ๆ ขึ้น โดยเฉพาะในเด็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพในระยะยาวอย่างโรคหัวใจ มีปัญหาสุขภาพจิต เป็นผู้มีรายได้น้อยจนไม่สามารถซื้อเครื่องนุ่งห่มหรือเครื่องใช้ที่ช่วยป้องกันอากาศหนาวได้ หรือมีความบกพร่องทางร่างกายที่อาจเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากอากาศหนาวมากกว่าคนทั่วไป

ซึ่งผลกระทบและอาการที่อาจเกิดขึ้นจากอากาศหนาวนั้นมีหลายรูปแบบ เช่น

  • หนาวสั่น เป็นปฏิกิริยาที่ร่างกายพยายามควบคุมอุณหภูมิไม่ให้ต่ำลงแม้จะเกิดขึ้นเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ก็ตาม โดยกล้ามเนื้อขนาดเล็กจำนวนมากจะหดตัวเพื่อสร้างความร้อน ซึ่งอาการหนาวสั่นอาจช่วยเพิ่มการเผาผลาญภายในร่างกายได้ แต่เมื่ออยู่ในที่ที่มีอากาศเย็นและมีอาการสั่นร่วมด้วย ควรหาทางทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น เพราะหากปล่อยให้ร่างกายเย็นลงกว่าเดิมก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้
  • ผิวแห้ง ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในฤดูหนาว เพราะอากาศเย็นที่สัมผัสผิวหนังจะดูดเอาความชุ่มชื้นบนผิวหนังออกไปด้วย จนอาจทำให้รู้สึกได้ว่ามีผิวแห้งบริเวณใบหน้า มือ หรือเท้า ซึ่งบางคนอาจมีอาการคัน ผิวแตก ผิวหนังอักเสบ หรืออาจทำให้โรคผิวหนังบางชนิดอย่างภูมิแพ้ผิวหนังมีอาการรุนแรงขึ้นได้
  • ปวดหัว สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอาจทำให้สารเคมีและคลื่นไฟฟ้าในสมองเปลี่ยนแปลงไป จนอาจกระทบต่อเส้นประสาทและเป็นสาเหตุของอาการปวดหัวหรือกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรนได้ นอกจากนี้ การเผชิญกับอากาศหนาวโดยตรงหรือการสูดหายใจนำอากาศเย็นเข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้รู้สึกปวดหัวคล้ายกับตอนรับประทานไอศกรีมอย่างรวดเร็วได้เช่นกัน
  • น้ำตาหรือน้ำมูกไหล ดวงตาเป็นอวัยวะที่ต้องการความชุ่มชื้นตลอดเวลา แต่อากาศที่เย็นและแห้งอาจทำให้ตาเกิดการระคายเคืองได้ ร่างกายจึงสร้างของเหลวบริเวณดวงตาเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาความชุ่มชื้นเอาไว้ จึงอาจทำให้มีของเหลวบางส่วนไหลออกมาเป็นน้ำตาได้ นอกจากดวงตาแล้ว อากาศลักษณะนี้ก็อาจทำให้ร่างกายปรับตัวเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นภายในโพรงจมูกด้วย และเมื่อของเหลวในโพรงจมูกมีมากเกินไปก็อาจทำให้มีน้ำมูกไหลออกมาได้เช่นกัน
  • หายใจไม่อิ่ม อากาศที่แห้งและเย็นอาจทำให้ปอดและหลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้น หรืออาจทำให้ปอดเกิดการระคายเคืองได้ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคหอบหืดหรือมีภาวะหลอดลมอักเสบ ในบางครั้งจึงอาจรู้สึกว่าการหายใจนำอากาศเย็นเข้าสู่ปอดนั้นทำให้ไอ หายใจหอบเหนื่อย หายใจไม่อิ่ม หรือหายใจมีเสียงหวีดจากภาวะหลอดลมตีบได้ นอกจากนี้ หากเกิดอาการหายใจไม่อิ่มขึ้นอย่างกะทันหัน หรือเกิดอาการต่าง ๆ ร่วมกับอาการคลื่นไส้ เจ็บหน้าอก หรืออาการอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายกัน อาจเป็นสัญญาณของโรคหัวใจได้ จึงควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วหากพบอาการดังกล่าว
  • นิ้วมือหรือนิ้วเท้าอักเสบและคันจากอากาศหนาว เกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดขนาดเล็กใต้ผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสความเย็นประมาณ 16 องศาเซลเซียสหรือต่ำกว่า ซึ่งทำให้มีอาการบวม แดง คัน หรือเป็นรอย หากอาการรุนแรงก็อาจทำให้เป็นแผลได้ โดยอาการดังกล่าวมักเกิดขึ้นที่นิ้วมือ นิ้วเท้า หู หรือแก้ม โดยปกติแล้วอาการจะหายไปภายใน 1-3 สัปดาห์ แต่หากสัมผัสกับอากาศเย็นอีกครั้ง อาการแดงและคันก็อาจกลับมาได้
  • ลมพิษจากการสัมผัสความเย็น เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อผิวหนังสัมผัสกับความเย็น ซึ่งจะทำให้ผิวหนังมีสีแดง แตก เป็นรอยนูนบวม และคันคล้ายผื่นลมพิษ อาจมีอาการมือพองหากสัมผัสขวดน้ำเย็น หรือปากและคออาจมีอาการบวมหลังจากรับประทานอาหารเย็นจัด รวมถึงการว่ายน้ำในน้ำเย็นก็อาจทำให้อาการมีความรุนแรงยิ่งขึ้นได้ โดยอาการนี้มักเกิดขึ้นในวัยหนุ่มสาว และจะค่อย ๆ หายไปเมื่อมีอายุมากขึ้น
  • เท้าเปื่อย หากเท้าสัมผัสกับอากาศเย็นเป็นเวลานานเกินไป อาจทำให้เกิดอาการเท้าเปื่อยได้ ซึ่งอาการดังกล่าวจะกีดขวางการไหลเวียนของโลหิต สารอาหาร และออกซิเจนบริเวณเท้า โดยอาจนำไปสู่อาการต่าง ๆ เช่น ตะคริวที่ขา อาการปวด บวม แดง เสียวซ่า เป็นแผลพุพอง เป็นแผลที่เท้า หรืออาจทำให้เนื้อเยื่อเริ่มตายจนเท้ากลายเป็นสีเทาหรือม่วง เป็นต้น ยิ่งหากเท้าเปียก อาจทำให้เกิดอาการนี้ขึ้นได้ที่อุณหภูมิเพียง 15 องศาเซลเซียสเท่านั้น
  • ผิวหนังถูกทำลายจากความเย็นจัด มักเกิดขึ้นที่นิ้วมือ นิ้วเท้า หรืออวัยวะต่าง ๆ บนใบหน้าอย่างหู จมูก แก้ม หรือคาง และเมื่อเกิดอาการดังกล่าวขึ้นก็อาจทำให้เป็นแผลพุพองบริเวณที่มีอาการ ผิวหนังและเนื้อเยื่อบริเวณนั้นไม่มีความรู้สึกหรือมีสีซีดลง รวมถึงอาจใช้งานอวัยวะนั้น ๆ ได้ลำบาก หากภาวะผิวหนังถูกทำลายจากความเย็นจัดมีความรุนแรง อาจทำให้ผิวหนังกลายเป็นสีดำหรืออาจต้องตัดอวัยวะส่วนนั้นทิ้งไป
  • ภาวะตัวเย็นเกิน เป็นภาวะที่อุณหภูมิในร่างกายลดลงต่ำกว่า 35 องศาเซลเซียส ซึ่งอาจเกิดจากการสัมผัสอากาศหนาวหรือสัมผัสน้ำเย็น โดยทั่วไปแล้วในช่วงแรกอาจมีอาการสั่น หิว สับสน คลื่นไส้ การขยับร่างกายและการพูดมีปัญหา หรือหัวใจเต้นเร็ว แต่หลังจากนั้นอาการสั่นอาจหยุดลง และอาจมีอาการต่าง ๆ เช่น พูดจาเลือนราง พูดพึมพำ รู้สึกง่วงนอน ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง หายใจช้าและตื้น ชีพจรอ่อนลง เป็นต้น ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาภาวะตัวเย็นเกินโดยเร็ว อาจทำให้ผู้ที่เผชิญภาวะนี้เสียชีวิตได้
  • โรคหัวใจ เมื่ออยู่ในสภาพอากาศที่หนาวเย็น หัวใจอาจต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อทำให้ร่างกายอบอุ่น ซึ่งทำให้อัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งอากาศเย็นยังอาจทำให้หลอดเลือดตีบแคบลงจนเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจได้ โดยผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย หรือมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจอยู่ก่อนแล้ว อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคนี้มากยิ่งขึ้นด้วย
  • ภาวะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ผู้ที่เผชิญภาวะนี้อาจมีอาการเหมือนผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าทั่วไป แต่จะมีอาการป่วยเป็นช่วง ๆ ซึ่งมักเกิดขึ้นในฤดูหนาว และอาการจะดีขึ้นเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน แต่ผู้ป่วยบางรายก็อาจแสดงอาการในฤดูร้อนต่อไปได้เช่นกัน โดยสาเหตุของภาวะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่คาดว่าช่วงเวลาในตอนกลางวันที่สั้นลงในฤดูหนาวอาจทำให้ร่างกายได้รับแสงแดดน้อยลง จึงอาจส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายจนทำให้เกิดภาวะนี้

นอกจากนี้ เชื้อไวรัสบางชนิดอาจแพร่กระจายได้ดีและพบได้มากในช่วงที่มีอากาศหนาว เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ไวรัสอาร์เอสวี หรือไวรัสโรต้า เป็นต้น จึงอาจทำให้คนที่อยู่ในสภาพอากาศหนาวเย็นป่วยง่ายขึ้น และยังมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งชี้ว่า ระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายอาจป้องกันไวรัสได้ไม่ดีเมื่ออยู่ในอากาศเย็น รวมถึงอากาศที่หนาวเย็นอาจทำให้ผู้คนใช้เวลาอยู่ภายในอาคารหรืออยู่ใกล้ชิดกันมากขึ้น จึงอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่าง ๆ ได้เช่นกัน

การดูแลตนเองและป้องกันภัยจากอากาศหนาว

อากาศหนาวอาจทำให้เกิดผลกระทบกับร่างกายได้หลายรูปแบบ จึงควรดูแลร่างกายตนเองอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันการเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ โดยอาจปฏิบัติตามวิธีการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • สวมเครื่องแต่งกายที่ช่วยป้องกันความหนาวเย็นและทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น เช่น สวมเสื้อผ้าหลายชั้น สวมเสื้อกันหนาว สวมแว่นตา ผ้าพันคอ หมวก ถุงมือ ถุงเท้า หรือรองเท้าบูทกันน้ำเป็นต้น
  • ดื่มน้ำอุ่นหรือรับประทานอาหารบางชนิด อย่างช็อกโกแลต ข้าวโอ๊ตบด ซุปฟักทอง น้ำขิง หรืออาหารที่มีรสเผ็ด
  • หากเป็นผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้ที่เป็นโรคปอด โรคหัวใจ หรือเคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวก ไม่ควรออกนอกบ้านในวันที่มีอากาศเย็นจัด และควรทำให้อุณหภูมิภายในบ้านสูงกว่า 18 องศาเซลเซียส
  • ปิดประตูและหน้าต่าง เพื่อป้องกันลมหนาว
  • ใช้ขวดน้ำร้อนหรือผ้าห่มไฟฟ้าเพื่อช่วยให้เตียงอุ่นขึ้น แต่ไม่ควรใช้ทั้งสองอย่างพร้อมกัน
  • ทาครีมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนัง
  • ไม่ควรนั่งนิ่ง ๆ นานเกินไปในสภาพอากาศหนาวเมื่ออยู่ภายนอกอาคาร
  • พยายามเคลื่อนไหวร่างกายหรือออกกำลังกายพอประมาณ เพื่อช่วยให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น
  • ไปฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่โรงพยาบาล

เมื่อทราบแล้วว่า อากาศที่หนาวเย็นอาจเป็นสาเหตุของอาการป่วยได้หลายชนิด ซึ่งอาการบางอย่างอาจร้ายแรงถึงชีวิตได้เช่นกัน ดังนั้น หากเกิดความผิดปกติขึ้นภายในร่างกาย โดยเฉพาะหลังจากสัมผัสกับอากาศหนาว ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง

ขอขอบคุณรูปภาพจาก : เว็บบอร์ด – Postjung

Facebook
Twitter
LinkedIn
Telegram
Pinterest
5/5
โรคเบาหวาน ตรวจสุขภาพ
สุขภาพ

สุขภาพดี ต้องห่างไกล โรคเบาหวาน มหันตภัยเงียบของยุค 2019

สุขภาพดี คนไทยต้องห่างไกลจากโรคเบาหวาน ซึ่งปัจจุบันนี้ โรคเบาหวาน จัดได้ว่าเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องด้วยภาวะโรคแทรกซ้อน ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ

โรคร้าย
สุขภาพ

โรคร้ายแรงที่ทำให้คนไทยเสียชีวิต ในยุค 2019 ปัญหา สุขภาพ มีโรคอะไรบ้าง

โรคร้ายแรงที่ทำให้คนไทยเสียชีวิต ในยุค 2019 ปัญหา สุขภาพ มีโรคอะไรบ้าง ที่เป็นปัญหาในยุคนี้ และมีแนวโน้มที่คนไทยจะป่วยกันมากขึ้น