ในวิธีการรักษาโรคมะเร็ง มักเกิดความสับสน และสงสัยว่าทำไมจึงใช้วิธีการรักษาที่ต่างกัน จริงๆ แล้ว เราต้องเข้าใจเป้าหมายของการรักษามะเร็งกันก่อน หากผู้ป่วยเป็นมะเร็งระยะแรก เป้าหมายในการรักษาก็เพื่อต้องการให้หายขาด แต่ในกรณีที่มะเร็งลุกลาม หรือมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นแล้ว ส่วนใหญ่เป้าหมายของการรักษาจะเป็นการรักษาเพื่อควบคุม ยับยั้ง ลดจำนวนมะเร็ง ทำให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างยืนยาว และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ดังนั้นการเลือกวิธีรักษาจึงขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละคนด้วย การปรึกษาแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญถึงข้อบ่งชี้ในการรักษา และข้อห้าม ข้อระวัง รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษา จึงสำคัญมากเพื่อจะได้รับการผ่าตัดที่เหมาะสม
1. การผ่าตัด (Surgery)
การผ่าตัดเป็นวิธีการรักษามะเร็งเฉพาะที่ การรักษามะเร็งระยะแรกส่วนใหญ่มักต้องมีการผ่าตัดเพื่อหายขาด เช่น มะเร็งศีรษะและคอ เต้านม ปอด มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น ปัจจุบันการผ่าตัดมีความก้าวหน้ามากในหลายอวัยวะสามารถผ่าตัดโดยไม่ทำให้เสียรูปทรง และหลีกเลี่ยงการสูญเสียอวัยวะนั้น เช่น มะเร็งเต้านม มีการผ่าตัดเฉพาะก้อน (Lumpectomy) ไม่ต้องตัดนมทั้งเต้า (Mastectomy) มะเร็งกระดูกของกระดูกต้นขา แพทย์สามารถผ่าตัดเก็บรักษาขาได้ (Limbsparing Surgery) โดยไม่ต้องตัดขา (Amputation) ปัจจุบันมีการผ่าตัดแบบส่งผลกระทบน้อย (Minimally Invasive Surgery) เช่น การผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic Surgery) ในการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ และการผ่าตัดผ่านกล้องโดยใช้หุ่นยนต์ช่วย (Robotic Assisted Laparoscopic Surgery) เพื่อรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก แต่การรักษานี้มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น และศัลยแพทย์ต้องมีความชำนาญเฉพาะ หลังจากการผ่าตัดแล้วผู้ป่วยบางรายต้องได้รับการรักษาเสริม (Adjuvant therapy) เช่น เคมีบำบัด และหรือ รังสีรักษา ตามแต่ระยะของมะเร็ง ในผู้ป่วยบางรายไม่สามารถผ่าตัดได้ทันที เนื่องจากก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ หรือหากต้องการรักษาเพื่อเก็บอวัยวะนั้นไว้ แพทย์อาจวางแผนให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด หรือการฉายรังสีเพื่อให้ก้อนมะเร็งเล็กลงก่อน (Neoadjuvant Therapy)
2. รังสีรักษา (Radiotherapy)
การรักษาด้วยรังสีบำบัด ที่เรารู้จักกันว่า การฉายแสง เป็นการรักษามะเร็งเฉพาะตำแหน่งโดยใช้รังสีขนาดสูง (High Dose of Radiation) จากแหล่งกำเนิดรังสีซึ่งมาจากเครื่องกำเนิดรังสี (External Radiotherapy) รังสีจะผ่านผิวหนังไปยังตำแหน่งที่ต้องการ ซึ่งแพทย์รังสีรักษาจะเป็นผู้วางแผนการให้ปริมาณรังสีมีผลต่ออวัยวะข้างเคียงน้อยที่สุด เพราะสามารถกำหนดความลึก และบริเวณที่ต้องการได้ บางกรณีแพทย์อาจใช้รังสีรักษาโดยสอดใส่แหล่งกำเนิดรังสีไปในตำแหน่งใกล้กับก้อนมะเร็งโดยตรง (Brachytherapy) ได้ เช่น ในมะเร็งปากมดลูก ปัจจุบันเครื่องฉายแสงมีความก้าวหน้า และแม่นยำมากขึ้นมากซึ่งช่วยลดผลข้างเคียงน้อยลงมากด้วย บางคนอาจเข้าใจผิดว่าการฉายแสงจะเร่งให้มะเร็งลุกลามเร็วขึ้น ในความจริงนั้นการลุกลามของมะเร็งเป็นคุณสมบัติของมะเร็ง และการรักษาไม่ให้มะเร็งลุกลามไปนั้น ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาที่มีผลทั่วร่างกาย (Systemic Therapy) เช่น การใช้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วย
3. เคมีบำบัด (Chemotherapy)
การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด เป็นการรักษาด้วยสารเคมีที่มีผลทำลายเซลล์มะเร็งมากกว่าเซลล์ปกติ โดยที่กลไกการออกฤทธิ์ของยาเคมีบำบัดเป็นการขัดขวางการแบ่งเซลล์ ทำให้มีผลต่อเซลล์มะเร็งที่มีการแบ่งตัวเร็วกว่าเซลล์ปกติ ในอดีตการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดมีผลข้างเคียงมากเพราะความรู้เรื่องยาเคมีบำบัดมีไม่มาก และไม่มียารักษาอาการข้างเคียงของยาที่มีประสิทธิภาพ แต่ในปัจจุบันก็สบายใจได้มากขึ้นเพราะความรู้เรื่องยาเคมีบำบัดมีมากขึ้น และยารักษาตามอาการก็มีประสิทธิภาพดีขึ้นด้วย อย่างไรแล้วผู้ป่วยอาจมีอาการข้างเคียงได้ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้เคมีบำบัดมีน้อย ไม่มีการใช้ยาตามอาการตามความเหมาะสม ผู้ป่วยไม่ได้รับคำแนะนำเรื่องการรักษา การปฏิบัติตัวหลังได้รับเคมีบำบัด หรือมีภาวะทางจิตใจวิตกกังวล ความกลัว นอนไม่หลับ ร่วมด้วย การวิจัยยาเคมีบำบัดในปัจจุบันจึงไม่ใช่่เพียงเพื่อรักษามะเร็งเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นสำคัญด้วย
4. ยาฮอร์โมนบำบัด (Hormonal Therapy)
ยาฮอร์โมนบำบัด (Hormonal Therapy) มีกลไกการยับยั้งการทำงานในเซลล์ผ่านตัวรับฮอร์โมน หรือผ่านเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมน การรับนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในมะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก นอกจากนี้ยังมีการใช้สารชีวภาพในการรักษามะเร็ง (Biotherapy) เช่น ยาอินเตอร์เฟียรอน (Interferon) ซึ่งปัจจุบันมีบทบาทน้อยลงไปมาก เนื่องจากมีการคิดค้นยาที่สามารถรักษามะเร็งได้โดยตรงเป้าหมาย มีผลข้างเคียงน้อยกว่า เพราะไม่ได้ไปทำลายเซลล์มะเร็งเหมือนเคมีบำบัด
การรักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy)
การรักษาแบบมุ่งเป้าเป็นการรักษามะเร็งที่มีเป้าหมายที่กลไกการทำงานของเซลล์ โดยที่ยานี้ไม่ได้มีผลในการทำลายเซลล์มะเร็ง และเซลล์ปกติเหมือนเคมีบำบัด จากการวิจัยทำให้มีความรู้ในเรื่องกลไกการกำเนิด และการเปลี่ยนแปลงของมะเร็งต่างๆ และมีการพัฒนายาที่ออกฤทธิ์ที่กลไกเหล่านั้นในเซลล์มะเร็ง อย่างไรแล้วยานี้มีราคาแพงมาก และมีข้อบ่งใช้ตามผลการวิจัยที่ได้พิสูจน์แน่ชัดแล้ว หากมะเร็งที่ไม่มีเป้าการออกฤทธิ์ของยา การใช้ยาดังกล่าวก็จะไม่ได้ผล ในทางกลับกันถึงแม้ว่าในมะเร็งนั้นมีเป้าการออกฤทธิ์ของยาก็ตามเมื่อนำมาวิจัยแล้วอาจพบว่ายานั้นไม่มีประสิทธิภาพได้เช่นกัน เนื่องจากการเจริญเติบโตของมะเร็งอาศัยหลายกลไก เป็นผลทำให้การใช้ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะบางเป้าหมายไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นการใช้ยาในกลุ่มนี้ควรเป็นไปตามการวิจัยที่ได้ผลแน่ชัดแล้วเท่านั้น
งานวิจัยทางการแพทย์
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมามีความเปลี่ยนแปลง และความก้าวหน้าในการรักษามะเร็งเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการวิจัย และการนำผลการวิจัยมาประยุกต์ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยทำให้การรักษาโรคมะเร็งให้หายขาดมีมากขึ้น ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาว และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ความก้าวหน้าในการรักษามะเร็งปัจจุบัน เช่น การผ่าตัด รังสีรักษา เคมีบำบัด การรักษาแบบมุ่งเป้า มีแนวทางที่ได้จากผลการวิจัยทั้งสิ้น
มะเร็ง + เทคโนโลยีการรักษา = เพิ่มโอกาสรอด
การเลือกวิธีรักษาจึงขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละคนด้วย การปรึกษาแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญถึงข้อบ่งชี้ในการรักษา และข้อห้าม ข้อระวัง รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษา จึงสำคัญมาก