แผ่นยาติดผิวหนัง (transdermal contraceptive patch) มีตัวยาสำคัญ 2 ชนิด คือ norelgestromin และ ethinyl estradiol. เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ แบบใหม่เพื่อการคุมกำเนิดของผู้หญิง แผ่นยานี้เตรียมขึ้นในระบบมาทริกซ์ ซึ่งจะปลดปล่อยตัวยาออกมาและดูดซึมผ่านผิวหนังได้สม่ำเสมอนาน 7-9 วัน. ผลการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างแผ่นยาติดผิวหนังกับยาเม็ดคุมกำเนิด พบว่าการใช้แผ่นยาติดผิวหนังติดต่อกัน 3 สัปดาห์มีประสิทธิภาพดีเทียบเท่ากับการกินยาเม็ดคุมกำเนิด. อย่างไรก็ตามอาจจะเกิดอาการข้างเคียงบางอย่าง เช่น อาการระคายเคืองผิวหนังบริเวณที่ติดแผ่นยา คลื่นไส้ คัดตึงเต้านมหรือปวดศีรษะ.
ปัจจุบันการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวที่นิยมกัน มากที่สุดคือการกินยาเม็ดคุมกำเนิด ซึ่งในเม็ดยาประกอบด้วยฮอร์โมน 2 ชนิด คือ estrogen และprogestrogen พบว่า การกินยาเม็ดคุมกำเนิดนั้นมักไม่สะดวก ต้องกินยาติดต่อกันทุกวันนาน 21 หรือ 28 วัน จึงเกิดปัญหาการลืมกินยา และเกิดการตั้งครรภ์ในอัตราที่สูง. แม้ว่ามีการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นๆ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอีกหลายประการ เช่น ข้อเสียของการใช้ยาฉีดคุมกำเนิดคือการมีประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือมีเลือดออกกะปริบกะปรอย. ส่วนการใช้ยาฝังใต้ผิวหนัง การทำหมันนั้นก่อให้เกิดความเจ็บปวดและอาจเกิดการติดเชื้อได้นักวิจัยด้านเภสัชศาสตร์ได้วิจัยพัฒนาแผ่นยาคุมกำเนิดชนิดติดผิวหนัง ซึ่งสามารถลดข้อเสียที่เกิดจากการใช้ยารูปแบบอื่นๆและมีประสิทธิภาพคุมกำเนิดสูงอีกด้วย.
แผ่นยาติดผิวหนังเพื่อการคุมกำเนิด4-6
มีลักษณะเป็นแผ่นพลาสติกใสรูปสี่เหลี่ยมหรือวงกลม (คล้ายพลาสเตอร์ยาแต่บางกว่ามาก) ประกอบด้วยชั้นต่างๆ ภายในแผ่น polymer matrix บรรจุตัวยาสำคัญ 2 ชนิด คือ ethinyl estradiol และ norelgestromin (หรือ 17-deacetylnorgestimate) ที่มีขนาดอนุภาคเล็ก(micronize).การดูดซึมยาผ่านสู่ผิวหนังเข้าสู่ร่างกายนั้นขึ้นกับขนาด (dose) และพื้นที่ผิวที่สัมผัสกับผิวหนัง ระบบการนำส่งยาดังกล่าวปลดปล่อยตัวยาค่อนข้างคงที่สม่ำเสมอ. ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์มีชื่อว่า Ortho Evra ® หรือ Evra ® ซึ่งเป็นผลการวิจัยและพัฒนาของ R.W. Johnson Pharmaceutical Research Institue สหรัฐอเมริกา โดยแผ่นยานี้มีขนาดพื้นที่ 20 ตร.ซม.
แผ่นยาคุมกำเนิดชนิดติดผิวหนัง มีส่วนประกอบ 3 ชั้น คือ
- ชั้น Outer protective layer เป็นแผ่นอยู่ด้านนอกบนสุด ทำจาก polyester มีหน้าที่ป้องกันการสูญเสียตัวยา.
- ชั้น Medicated adhesive middle layer เป็นส่วนที่ติดกับผิวหนังและเป็นแหล่งเก็บตัวยาสำคัญ (drug reservoir).
- ชั้น Clear polyester release liner เป็นส่วนที่ต้องดึงออก ก่อนที่จะติดแผ่นยาบนผิวหนัง.
คุณสมบัติทางเภสัชจลนศาสตร์และผลการทดลองทางคลินิก ?⚕️??
เมื่อติดแผ่นยาคุมกำเนิดที่ผิวหนัง ตัวยาจะถูกปลดปล่อยและซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่ร่างกาย ในปริมาณเฉลี่ย ethinyl estradiol 20 mg และ norelgestromin 150 mg/วัน และให้ค่าความเข้มข้นของยาในเลือด
0.6-1.2 mg/มล. และ 25-75 mg/มล.ตามลำดับ ซึ่งออกฤทธิ์คุมกำเนิดได้สอดคล้องกับค่าความเข้มข้นของยาในเลือดที่ได้จากการกินยาเม็ดคุมกำเนิด Ortho-Cyclen ® /Cilest ® (ยา 1 เม็ดประกอบด้วย ethinyl estradiol 35 mg และ norelgestromin 250 mg).
ผลการศึกษาหลายครั้ง พบว่า แผ่นยาติดผิวหนังมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดได้เทียบเท่ากับยาเม็ด ซึ่งอาจเนื่องมาจากมีผู้ป่วยให้ความร่วมมือในการใช้ยาดีกว่า แม้ว่าจะเกิดอาการข้างเคียงบางชนิดที่พบได้บ่อยกว่า เช่น อาการคลื่นไส้ ปวดท้องเมื่อมีประจำเดือน แต่ก็อยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง. ส่วนอาการคัดตึงเต้านม พบว่าในรอบประจำเดือนที่ 1, 2 ของการ ใช้แผ่นยาติดผิวหนังจะพบมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ
(p-value <0.001) แต่หลังจากนั้นอาการดังกล่าวลดลงและไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ (p-value >0.1). สำหรับการเกิดเลือดออกกะปริบกะปรอยพบความแตกต่างในช่วงแรกเท่านั้น. ส่วนการขาดประจำเดือนจะพบน้อยกว่าการใช้เม็ดคุมกำเนิด.
ผลการทดสอบทางคลินิกระหว่างแผ่นยาติดผิวหนัง (once-weekly dosing regimen) กับยาเม็ดคุมกำเนิด (daily dosing regimen) ว่าความร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วยแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ. ส่วนแผ่นยาติดผิวหนังไม่ได้มีส่วนทำให้เกิด phototoxicity หรือ photoallergy แต่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองที่ผิวหนังเพียงเล็กน้อยเท่านั้น.
สรุปได้ว่าแผ่นยาคุมกำเนิดชนิดติดผิวหนังเป็นทางเลือกใหม่สำหรับสตรีที่มีปัญหาหรือไม่สะดวกในการใช้ยาคุมกำเนิดรูปแบบอื่น ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการตั้งครรภ์. สำหรับข้อดีของแผ่นยาคุมกำเนิดชนิดติดผิวหนัง คือตัวยาสามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและออกฤทธิ์ได้นานกว่า 1 สัปดาห์ต่อการใช้ยา 1 แผ่น และเนื่องจากเป็นรูปแบบที่ใช้สะดวกจึงช่วยเพิ่มความร่วมมือในการใช้ยาได้เป็นอย่างดี และมีประสิทธิภาพสูงในการคุมกำเนิด. อย่างไรก็ตาม แผ่นยานี้อาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองผิวหนัง และอาการข้างเคียงอื่นๆ ได้. ดังนั้นแพทย์และเภสัชกรจึงควรเข้าใจถึงรูปแบบ และคุณสมบัติของยา จึงจะสามารถสั่งจ่ายยาและให้คำแนะนำ ข้อควรระวังในการใช้ยาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม. อย่างไรก็ตาม หากจะนำมาใช้กับคนไทยจำเป็นต้องวิจัยและพิจารณาเรื่องความแตกต่างที่มีอยู่ เช่น ภูมิอากาศ ราคายา ตลอดจนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของคนไทยด้วย.
วิธีใช้ยา ??⚕️??
ติดแผ่นยาสัปดาห์ละ 1 แผ่นต่อเนื่องกันนาน 3 สัปดาห์. ในสัปดาห์ที่ 4 ไม่ต้องติดโดยติดผิวหนังบริเวณต้นแขนด้านบน หน้าท้อง สะโพก ยกเว้นบริเวณเต้านม เนื่องจากตัวยาอาจถูกกักเก็บในชั้นไขมันของเต้านมทำให้ปริมาณยาที่จะออกฤทธิ์คุมกำเนิดลดลง หลังการติดแผ่นยาผู้ใช้สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ ตลอดจนการอาบน้ำหรือว่ายน้ำ แต่ไม่ควรทาครีม โลชั่น น้ำมัน บริเวณนั้น. เมื่อครบ 7 วันให้เปลี่ยนแผ่นยาใหม่ ทั้งนี้แนะนำให้ติดใกล้ๆ ที่เดิมได้ แต่ห้ามติดที่ตำแหน่งเดียวกัน และไม่ควรติดแผ่นยาตามรอยกดทับของขอบกางเกง กระโปรง หรือเข็มขัด.
ขอขอบคุณรูปภาพจาก : สุขภาพ – Kapook