โรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม

โรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม

โรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม (Macular degeneration) เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากการเสื่อมของบริเวณจุดภาพชัดของจอตา ทำให้สูญเสียการมองเห็นส่วนกลางของภาพ หากพบในผู้มีอายุ 50 ปี ขึ้นไป จะเรียกว่า “โรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ” (Age related Macular degeneration)

จอตาหรือจอประสาทตา มีหน้าที่รับแสง, เปลี่ยนแสงเป็นสัญญาณไฟฟ้า ส่งผ่านสัญญาณไปยังสมอง ซึ่งจะแปลงออกมาเป็นภาพที่เรามองเห็น จุดภาพชัด (Macula) คือ จุดรับภาพตรงกลางจอประสาทตา เป็นบริเวณที่มีความหนาแน่นของเซลล์รับแสงมากที่สุด ทำให้เราสามารถมองเห็นภาพตรงกลางได้ชัดเจน โรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม เกิดจากการสะสมสารของเสียที่ใต้ชั้นจอประสาทตา ทำให้เซลล์รับแสงเสื่อมสภาพ ความสามารถในการมองเห็นภาพตรงกลางจึงลดลง แม้ไม่ทำให้สูญเสียการมองเห็นทั้งหมด แต่กลับส่งผลกระทบมหาศาลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยจะไม่สามารถอ่าน/เขียนหนังสือ,ขับรถ หรือทำงานที่ต้องใช้ ความละเอียดได้ ไม่สามารถจำหน้าคนได้ ตัวโรคอาจจะเกิดกับตาเพียงข้างใดข้างหนึ่ง หรือเกิดกับตาทั้งสองข้าง ความ รุนแรงของโรคในตาแต่ละข้างอาจไม่เท่ากัน

โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น การเสื่อมสภาพของร่างกายตามวัย ซึ่งโดยธรรมชาติสัดส่วนของสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกายของคนเราจะแปรผันไปตามอายุที่มากขึ้นทำให้มีการสะสมของอนุมูลอิสระและเกิดการเสื่อมของส่วนต่างๆในร่างกายมากขึ้นโดยเฉพาะที่จอตา และจะมีความเสี่ยงสูงขึ้นหากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้มาก่อน มีพฤติกรรมการใช้สายตาที่ต้องเผชิญกับแสงแดดนานๆ หรือมีการสูบบุหรี่ร่วมด้วย จากหลักฐานทางการแพทย์พบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่ มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า และมีโอกาสเกิดโรคนี้เร็วกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 10 ปี นอกจากนี้แล้ว ผู้ที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงและมีระดับไขมันในเลือดสูง รวมถึงสตรีวัยหมดประจำเดือนที่ไม่ได้กินฮอร์โมนทดแทน ก็พบว่ามีความเสี่ยงสูงขึ้นในการเป็นโรคนี้เช่นกัน

โรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม สามารถแบ่งตามกลุ่มอายุและสาเหตุของการเกิดโรคได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1. จุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ
2. จุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมในเด็กและวัยรุ่น

1.จุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (Age-related Macular Degeneration)
มักพบในผู้ที่มีอายุ60ปีขึ้นไป คนที่มีคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคนี้ จะมีความเสี่ยงเป็นโรคมากกว่าคนทั่วไป มีความรุนแรง 3 ระยะ
-จุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมระยะต้น – รอยโรคขนาดเล็ก สามารถตรวจพบรอยโรคได้จากการตรวจส่องตา ผู้ป่วยมีการมองเห็นปกติ
-จุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมระยะกลาง – รอยโรคขนาดใหญ่มากขึ้น เริ่มส่งผลต่อการมองเห็น
-จุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมระยะรุนแรง – รอยโรคกินบริเวณกว้าง ผุ้ป่วยมองเห็นภาพผิดปกติ

ในกรณีที่เกิดความผิดปกติกับตาข้างเดียว แม้ตัวโรคจะอยู่ในระยะรุนแรงผู้ป่วยอาจจะไม่รู้ตัว เพราะตาอีกข้างสามารถทำงานทดแทนได้ ทำให้มองเห็นได้ชัดเจนเหมือนคนทั่วไป การเกิดจอตาเสื่อมระยะรุนแรงที่ตาข้างหนึ่ง จะเพิ่มความเสี่ยงที่ตาอีกข้างจะเป็นระยะรุนแรงด้วย จอตาเสื่อมระยะต้น ไม่จำเป็นต้องลงเอยด้วยระยะรุนแรงทุกราย ในผู้ป่วยระยะต้น ที่มีความผิดปกติเพียงตาเดียว มีโอกาสเพียง5% ที่จะพัฒนาไปสู่ระยะรุนแรงใน10ปีให้หลังส่วนผู้ป่วยระยะต้นที่มีความผิดปกติที่ตาทั้งสองข้าง มีโอกาส14% ที่จะพัฒนาไปสู่ระยะรุนแรงใน10ปีให้หลัง จุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ สามารถแบ่งตามลักษณะพยาธิสภาพได้เป็น 2 แบบ (ในตาข้างหนึ่งอาจพบความผิดปกติทั้งสองแบบร่วมกัน)

1. แบบแห้ง ; เกิดจากการเสื่อมและบางตัวลงของบริเวณศูนย์กลางรับภาพของจอตา ทำให้การมองเห็นค่อย ๆ มัวลง โดยที่อาการของโรคจะเป็นไปอย่างช้า ๆ พบมากในคนอายุ65ปีขึ้นไป ปัจจัยเกี่ยวข้องในการเกิดโรคมีหลายปัจจัย ได้แก่ พันธุกรรม การสูบบุหรี่ และพฤติกรรมการกินอาหาร
2. แบบเปียก ; พบได้ประมาณ 15-20% เกิดจากมีหลอดเลือดจอตาเจริญเติบโตผิดปกติ หลอดเลือดผิดปกติเหล่านี้จะมีความเปราะบางมากกว่าหลอดเลือดทั่วไป ทำให้เกิดการแตก, รั่วซึมในชั้นเนื้อเยื่อจอตา ทำให้จุดภาพชัดบวม มองเห็นภาพบิดเบี้ยว และสูญเสียการมองเห็นในส่วนกลางในที่สุด

2.จุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมในเด็กและวัยรุ่น (Stargardt Disease)
เป็นสาเหตุของโรคจุดภาพชัดจอตาเสื่อมที่พบบ่อยที่สุดในเด็กและวัยรุ่น ช่วงอายุ6-20ปี มีอุบัติการณ์ประมาณ 1ใน20,000คน ตั้งชื่อตามจักษุแพทย์ชาวเยอรมัน Karl Stargardt ผู้ค้นพบผู้ป่วยรายแรกของโลกในปี ค.ศ.1901 เกิดจากการกลายพันธุ์ของยีน ABCA4 ทำให้เซลล์จอประสาทตาไม่สามารถขับของเสียออกจากเซลล์ได้ ส่งผลให้เกิดการตายของเซลล์ในเวลาต่อมา ความผิดปกติของยีน ABCA4 มีถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมแบบยีนด้อย หากทั้งพ่อและแม่มียีนด้อยดังกล่าวแฝงอยู่ ในการตั้งครรภ์แต่ละครั้ง ลูกจะมีโอกาสเป็นโรค25% อาการในระยะแรกเริ่ม อ่านหนังสือลำบาก ปรับสายตาในที่แสงจ้าไม่ได้ มักไม่ทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นทั้งหมด
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษา ทำได้เพียงชะลอการเสื่อมของจอประสาทตาโดยการฉีดยาเข้าลูกตา การใส่แว่นกันแดด กินอาหารครบ5หมู่ อาจะช่วยลดความเสี่ยงและชะลอความเสื่อมของจอประสาทตาได้ การรับประทานวิตามินเอ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็นของคนทั่วไป อาจส่งผลเสียต่อผู้ป่วยโรคนี้ เนื่องจากเซลล์จอประสาทตา ไม่สามารถนิวิตามินเอไปใช้ได้ ทำให้เกิดการคั่งของสารพิษในเซลล์

– สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงโรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม
ในปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุการเกิดชัดเจนปัจจัยเสี่ยง ได้แก่
1.อายุมากกว่า65ปี
2.มีคนในครอบครัวเป็นโรคจุดภาพชัดจอประสาทตาเสื่อม
3.การสูบบุหรี่ หรือการสูดกลิ่นควันบุหรี่เป็นประจำ
4.ความอ้วน เพิ่มความเสี่ยงการดำเนินโรคไปสู่ระยะรุนแรง
5.โรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจชาดเลือด เส้นเลือดในสมองตีบ
6.จะเห็นว่าผู้ป่วยในระยะต้นๆ จะยังไม่มีอาการผิดปกติ ผู้ที่มีความเสี่ยงควรตรวจตาเป็นประจำ

– อาการของโรค
1.มองภาพไม่ชัด
2.มองภาพบิดเบี้ยว
3.เห็นจุดดำ หรือมีจุดบอดบริเวณกึ่งกลางภาพ
4.ความสามารถในการแยกแยะสีแย่ลง
5.หากมีอาการเหล่านี้ ร่วมกับมีปัจจัยเสี่ยงตามข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

– วิธีรักษาและถนอมดวงตา
โรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมนั้นมีการรักษาหลายวิธี ทั้งการรักษาด้วยการยิงเลเซอร์ การฉีดยาเพื่อยับยั้งเส้นเลือดใหม่ที่งอกขึ้นมา หรือแม้กระทั่งการผ่าตัด เหล่านี้สู้การดูแลสุขภาพดวงตาตั้งแต่ยังหนุ่มสาวไม่ได้ ซึ่งนับเป็นหนทางที่ดีที่สุด สรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้
1.งดสูบบุหรี่
2.หลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดดจัดเป็นประจำ หรือถ้าจำเป็นควรใช้แว่นตากันแดดที่มีการกรองแสงยูวี
3.ควบคุมน้ำหนักตัว ไม่กินอาหารที่มีไขมันสูง ควรเพิ่มการกินผักใบเขียวและผลไม้ทุกวัน
4.การตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุก 1-2 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป แม้ไม่มีอาการผิดปกติ ใด ๆ แต่ก็เริ่มจะมีปัญหาเรื่องสายตาเปลี่ยนแปลง หรืออาจมีความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับดวงตาที่ไม่แสดงอาการอย่างอื่น เช่น ต้อหิน ต้อกระจก การตรวจพบและให้การรักษาโรคตั้งแต่ระยะแรก จะสามารถเยียวยาให้ดวงตาสามารถใช้งานได้ต่อไป

– การรักษา
ไม่มีการรักษาที่หายขาด ทำได้เพียงชะลอความเสื่อมของจอประสาทตา
1.การผ่าตัดปลูกถ่ายเลนส์ ผู้ป่วยจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมในผู้สูงอายุแบบแห้ง เลนส์ชนิดพิเศษนี้จะช่วยขยายภาพทั้งระยะใกล้และไกลให้ชัดเจนมากขึ้น มีข้อเสียคือลานสายตาจะแคบลง
2.การรักษาด้วยยา ผู้ป่วยจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมในผู้สูงอายุแบบเปียก ยาจะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของหลอดเลือดที่ผิดปกติในจอประสาทตา ตัวอย่างยา เช่น
-Avastin (bevacizumab)
-Lucentis (ranibizumab)
-Eylea (aflibercept)
รักษาโดยฉีดยาเข้าลูกตา ทุกๆ4สัปดาห์ หากการรักษาได้ผล หลอดเลือดที่ผิดปกติฝ่อลง จอประสาทตาจะยุบบวม กู้คืนการมองเห็นได้บางส่วนภาวะแทรกซ้อนจากการฉีดยาเข้าลูกตาที่พบได้ คือ มีเลือดออกมาก ปวดตา เห็นตะกอนลอยไปมาในตา ความดันลูกตาเพิ่มขึ้น ตาอักเสบ และยาบางตัวที่ใช้ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดสมองตีบ
3.การรักษาโดยโฟโตไดนามิค ใช้รักษาผู้ป่วยจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ แบบเปียก หลักการคือใช้ยาซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารไวแสง (ยาเวอร์ติพอร์ฟิน)ฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ ซี่งจะหมุนเวียนไปตามหลอดเลือดในร่างกายและไปยังหลอดเลือดที่ตาจากนั้นใช้แสงเลเซอร์กระตุ้น ให้สารไวแสงนั้นเปลี่ยนสภาพไปเป็นสารออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดที่มีคววามผิดปกติฝ่อตัวลงอาจต้องทำซ้ำหลายครั้ง เนื่องจากหลอดเลือดที่ฝ่อมีโอกาสเติบโตได้ใหม่ โดยหลังจากการฉีดสารไวแสง จะต้องหลีกเลี้ยงแสงแดดหรือแสงที่ว่างมากๆ เป็นเวลา2-3วัน
4.Photocoagulation(โฟโตโคแอกูเลชั่น) เป็นการยิงเลเซอร์พลังงานสูงเข้าไปทำลายหลอดเลือดที่ผิดปกติ
5.ปรับสภาพตนเองให้คุ้นชินกับการมองเห็นที่สูญเสียไปบางส่วน โดยการใช้เครื่องช่วยมองเห็นต่างๆ เช่น แว่นตา คอนแทคเลนส์แบบพิเศษ แว่นขยาย และกล้องส่องทางไกล

Facebook
Twitter
LinkedIn
Telegram
Pinterest
5/5