นิ่วในไต (Kidney Stones) คือโรคที่เกิดจากแร่ธาตุแข็งชนิดต่าง ๆ ที่รวมตัวกันเป็นก้อน ก้อนนิ่วมีชนิดและขนาดที่แตกต่างกันไป โดยมักเกิดขึ้นบริเวณไต แต่พบได้ตลอดระบบทางเดินปัสสาวะ และมีโอกาสเกิดได้สูงหากปัสสาวะมีความเข้มข้นจนแร่ธาตุต่าง ๆ ตกตะกอนจับตัวเป็นนิ่ว นิ่วในไตอาจสร้างความเจ็บปวดทรมานให้ผู้ป่วยได้อย่างมากหากก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่จนไปปิดกั้นและสร้างแผลบาดเจ็บที่ท่อไต และอาจส่งผลให้ปัสสาวะออกมาเป็นเลือด
– สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค
การตกตะกอนของสารต่างๆ จนกลายเป็นก้อนนิ่วเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น มีสารเหล่านี้ในปัสสาวะมากผิดปกติ หรือทางเดินปัสสาวะตีบแคบจากสาเหตุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการตีบแต่กำเนิด หรือมีก้อนเนื้ออุดกั้น ทำให้ปัสสาวะคั่งค้างในไตและสะสมกลายเป็นก้อนนิ่วในที่สุด
– ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดนิ่ว ได้แก่
1.ดื่มน้ำน้อยเกินไป หรืออยู่ในภาวะขาดน้ำ
2.พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีสารก่อนิ่วในปริมาณสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้แก่ อาหารที่มีโปรตีน เกลือ และน้ำตาลสูง
3.ภาวะน้ำหนักเกิน
4.มีโรคในระบบทางเดินปัสสาวะ และระบบทางเดินอาหาร เช่น ไตอักเสบ โรคหลอดเลือดในท่อไต ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ โรคลำไส้อักเสบ ท้องเสียเรื้อรัง โรคเกาต์
5.ปัจจัยทางพันธุกรรม คือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนิ่วมาก่อน
– สาเหตุของนิ่วในไตยังอาจแบ่งได้ตามประเภทของก้อนนิ่วที่เกิดจากสารหลัก ๆ 4 ชนิด ดังนี้
1.แคลเซียม ก้อนนิ่วจากแคลเซียมเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด และส่วนมากมักเป็นก้อนนิ่วจากแคลเซียมที่รวมกับออกซาเลต ซึ่งเป็นสารที่มักพบในอาหารและเครื่องดื่มที่นิยมดื่มกัน เช่น สตรอว์เบอร์รี่ ส้ม ผักใบเขียว ถั่ว เต้าหู้ น้ำนมเต้าหู้ โซดา ชา เบียร์ กาแฟ เป็นต้น ส่วนก้อนนิ่วชนิดอื่นที่มารวมกับแคลเซียมอาจเป็นฟอสเฟต หรือกรดมาลิกก็ได้
2.กรดยูริก ก้อนนิ่วชนิดที่พบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง หรือพบในผู้ป่วยโรคเกาท์หรือผู้ป่วยที่กำลังเข้ารับการเคมีบำบัด (Chemotherapy) โดยก้อนนิ่วจากกรดยูริกนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อปัสสาวะมีความเป็นกรดมากเกินไป
3.สตรูไวท์ เป็นนิ่วที่ส่วนใหญ่พบในผู้หญิงที่มีการติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ ก้อนนิ่วชนิดนี้เป็นก้อนนิ่วที่เกิดจากการติดเชื้อที่ไต (Kidney Infection) และอาจมีขนาดใหญ่จนไปขัดขวางทำให้การขับปัสสาวะถูกปิดกั้น (Urinary Obstruction)
4.ซีสทีน นิ่วชนิดนี้พบได้ไม่บ่อย เกิดขึ้นได้ทั้งกับเพศชายและเพศหญิงที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมของซีสทีน ซึ่งเป็นกรดที่เกิดขึ้นในร่างกายโดยธรรมชาติ และรั่วจากไตมายังปัสสาวะ
– อาการของนิ่วในไตและท่อไต อาการที่มักพบในผู้ป่วยโรคนิ่วในไตและท่อไต ได้แก่
1.ปวดรุนแรงเป็นช่วงๆ บริเวณข้างลำตัวและหลัง บางครั้งอาจปวดช่องท้องด้านล่างลงไปจนถึงขาหนีบ
2.ปวดขณะปัสสาวะ ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะบ่อย น้ำปัสสาวะน้อยผิดปกติ
3.ปัสสาวะมีเลือดปน มีสีน้ำตาลหรือสีชมพู
4.คลื่นไส้ อาเจียน
5.มีไข้ หนาวสั่น
– การตรวจและวินิจฉัยโรคนิ่วในไตและท่อไต
แพทย์สามารถตรวจและวินิจฉัยโรคนิ่วในไตและท่อไตได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกาย ร่วมกับการตรวจต่างๆ อาทิ ตรวจเลือดเพื่อหาแคลเซียมและกรดยูริก ตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบของนิ่ว การตรวจด้วยภาพ เช่น ตรวจอัลตราซาวนด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan)และการฉีดสีเพื่อตรวจไตและระบบทางเดินปัสสาวะ
– การรักษาโรคนิ่วในไตและท่อไต
แนวทางการรักษาโรคนิ่วในไตและท่อไตขึ้นอยู่กับขนาดของนิ่ว หากก้อนนิ่วมีขนาดเล็กมาก แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากๆ เพื่อให้ร่างกายขับนิ่วออกมาเองตามธรรมชาติ โดยให้รับประทานยาบรรเทาอาการปวดร่วมด้วย หรืออาจให้ยาช่วยขับก้อนนิ่วเพื่อให้หลุดออกมาทางปัสสาวะ
*ในกรณีที่นิ่วมีขนาดใหญ่ แพทย์จะพิจารณาเอานิ่วออกโดยเลือกใช้วิธีดังต่อไปนี้
1.การสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก (Extracorporeal Shock Wave Lithotripsy : ESWL) เป็นการใช้คลื่นเสียงทำให้เกิดแรงกระแทกที่ก้อนนิ่วจนก้อนนิ่วแตกเป็นชิ้นเล็กๆ และหลุดออกมากับปัสสาวะ
2.การส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะ (Ureteroscopy) โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือที่มีกล้องติดอยู่ผ่านเข้าไปตามท่อปัสสาวะเพื่อขบนิ่วให้แตกเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำออกทางมาทางท่อ วิธีนี้ใช้ในกรณีที่นิ่วอยู่บริเวณท่อไตใกล้กับกระเพาะปัสสาวะ
3.การผ่าตัด ใช้ในกรณีที่ก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่ หรือเป็นนิ่วเขากวางที่มีกิ่งก้านหลายกิ่งจนไม่สามารถเอาออกด้วยวิธีอื่นได้
– การป้องกันและดูแลตัวเองของผู้ป่วย
1.ดื่มน้ำให้มากและให้ได้ปริมาณตามคำแนะนำของแพทย์
2.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีสารก่อนิ่วสูง ได้แก่ อาหารที่มีสารออกซาเลตสูง เช่น ยอดผัก ผักโขม ผักกระเฉด ถั่ว ชา ช็อกโกแลต พริกไทยดำ และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง อาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ สัตว์ปีก อาหารทะเล และอาหารที่มีสารซีสทีนสูง เช่น นม ไก่ เป็ด 3.นอกจากนี้ควรจำกัดการบริโภคเกลือให้อยู่ในปริมาณน้อย
4.ปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานวิตามินและเกลือแร่เสริมอาหาร โดยเฉพาะแคลเซียม
5.เข้ารับการตรวจติดตามโรคตามกำหนดทุกครั้ง โดยแพทย์อาจนัดติดตามผลการรักษาทุก 3 – 6เดือน
ขอขอบคุณรูปภาพจาก : 9thaihealth.com