โรคภูมิแพ้และการป้องกัน

โรคภูมิแพ้ ดูแลดีก็หายได้

โรคภูมิแพ้ เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายไวต่อโปรตีนหรือสารก่อภูมิแพ้จากสิ่งแวดล้อม ซึ่งปกติแล้วสารเหล่านี้จะไม่มีผลอันตรายต่อผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติ ในทางกลับกัน ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้จะไวต่อฝุ่น เชื้อราในอากาศ ขนสัตว์ เกสรดอกไม้ หรือแม้แต่อาหารที่รับประทานเป็นประจำ โดยโรคนี้จัดเป็นโรคที่พบบ่อยมากที่สุดในประเทศไทย เรียกได้ว่ามีประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศเลยทีเดียวที่จะพบปัญหาโรคภูมิแพ้

ภูมิแพ้ เป็นภาวะที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ผู้ที่มีบิดา มารดา หรือญาติเป็น จะมีโอกาสเป็นภูมิแพ้มากกว่าผู้อื่น ซึ่งธรรมชาติของภูมิแพ้คือ คนส่วนมากจะมีอาการเป็นๆ หายๆ ตั้งแต่เด็กๆ มีบางช่วงที่อาการดีขึ้น และบางช่วงอาการแย่ลง เด็กบางคนเมื่อโตขึ้นอาจไม่มีอาการของภาวะภูมิแพ้อีก เด็กส่วนมากอาจกลับมามีอาการอีกเมื่อโตขึ้นเป็นวัยรุ่นหรืออายุประมาณสามสิบกว่าขึ้นไป

– อาการของโรคภูมิแพ้
1.จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล น้ำมูกไหลลงคอ
2.เป็นหวัดไม่ยอมหาย ไอ ไซนัสอักเสบบ่อยๆ
3.คันตา น้ำตาไหล ขยี้ตาบ่อยๆ
4.ผื่นคัน ผิวหนังแห้งโดยเฉพาะบริเวณข้อศอก ข้อพับ เข่า และตามลำตัวในเด็ก
5.ลมพิษ
6.หอบหืด แน่นหน้าอก หายใจไม่ออกร่วมกับไอมาก
7.บางท่านอาจแพ้อาหาร หรือแมลงต่อย เช่น ผึ้ง ต่อ แตน

– กลไกของการเกิดโรคภูมิแพ้
อาการของภูมิแพ้เริ่มต้นจากการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เมื่อสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าจะด้วยวิธีไหนก็ตาม เช่น การสูดดม การสัมผัสกับผิวหนัง หรือการรับประทาน ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะตอบสนองสารก่อภูมิแพ้เหล่านั้นด้วยการหลั่งสารก่อการอักเสบต่างๆ ซึ่งจะกระตุ้นให้เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันผลิตแอนติบอดี (Antibody) ที่เรียกว่า อิมมูโนโกลบูลิน อี (IgE) ขึ้นมาต่อสารก่อภูมิแพ้นั้น ๆ เมื่อภายในร่างกายมีแอนติบอดีแล้ว ก็จะทำให้ร่างกายตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้นเพิ่มมากขึ้นและไวขึ้น

หลังจากนั้น ในครั้งต่อไปที่ร่างกายได้รับหรือมีการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ดังกล่าวอีกครั้ง ระบบภูมิคุ้มกันและแอนติบอดีก็จะตอบสนอง และกระตุ้นเซลล์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่าแมสต์เซลล์ (Mast cell) ให้หลั่งสารชื่อว่าฮีสตามีน (Histamine) ซึ่งเป็นตัวการสำคัญของอาการที่ไม่พึงประสงค์ของโรคภูมิแพ้ออกมา ส่งผลให้เกิดอาการระคายเคืองต่ออวัยวะต่างๆ ในร่างกาย เช่น ผิวหนัง จมูก คอ และปอดตามมา

– สารก่อภูมิแพ้
จากการสำรวจผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ในไทย พบว่าส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากแพ้ไรฝุ่นหรือฝุ่นในบ้านเป็นอันดับแรก รองลงมาคือแมลงสาบ ละอองเกสรพืช และขนสัตว์ นอกจากนี้อาการของโรคภูมิแพ้ยังสามารถรุนแรงยิ่งขึ้น หากผู้ป่วยได้รับการกระตุ้นจากกลิ่น เช่น ควันบุหรี่ หรือกลิ่นเหม็นฉุนต่างๆ ดังนั้น เพื่อให้รู้แน่ชัดว่าแพ้อะไรกันแน่ ผู้ที่เป็นภูมิแพ้ควรเข้ารับการทดสอบสารก่อภูมิแพ้กับผิวหนัง เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารดังกล่าว และยังสามารถใช้เป็นแนวทางในการพิจารณารักษาด้วยการฉีดวัคซีนได้ด้วย แต่หากไม่ได้รับการทดสอบ ก็ควรพยายามเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ดังต่อไปนี้
1.ไรฝุ่น
2.แมลงสาบ
3.สัตว์เลี้ยง
4.เกสรหญ้า
นอกจากนี้ควรเลี่ยงสารระคายเคืองต่างๆ ที่อาจทำให้อาการกำเริบได้ เช่น ควันบุหรี่ ควันท่อไอเสีย กลิ่นฉุน น้ำหอม ควันธูป และฝุ่นละอองจากที่ต่างๆ รวมทั้งควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและนอนพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะมีการพบว่าผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้มักมีอาการแย่ลงเมื่ออยู่ในภาวะเครียดหรืออดนอน ดังนั้นจึงควรดูแลสุขภาพให้ดี อย่าปล่อยให้ตัวเองเครียดและนอนน้อย ส่วนในกรณีที่เกิดอาการโรคหืดกำเริบจากการออกกำลังกาย การพ่นยาขยายขนาดหลอดลมก่อนการออกกำลังกาย 15 – 30 นาที จะช่วยป้องกันอาการหอบระหว่างออกกำลังกายได้

– การวินิจฉัยโรคภูมิแพ้
การทดสอบทางผิวหนัง
วิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมที่สุด เพราะเป็นวิธีที่ถูกต้อง แม่นยำ สอดคล้องกับอาการได้ดี และยังสามารถทราบผลได้ภายใน 20 นาที นอกจากนี้ผลจากการทดสอบทางผิวหนังยังเป็นสิ่งที่ใช้ในการตัดสินว่าควรจะได้รับวัคซีนภูมิแพ้ชนิดใด วิธีนี้ทำได้โดยหยดสารก่อภูมิแพ้ลงบนผิวหนังและสะกิดผิวหนังชั้นบน (โดยไม่ให้เลือดไหล) เพื่อให้สารก่อภูมิแพ้ถูกดูดซับเข้าในผิวหนัง

การเจาะเลือดตรวจทางอิมมูโนวิทยา
วิธีนี้ใช้น้อยกว่าวิธีแรก จะใช้ในบางภาวะที่ไม่สามารถทำการทดสอบทางผิวหนังได้ เช่น ในคนที่มีประวัติแพ้รุนแรงถึงช็อก หรือในคนที่มีผื่นมากและไม่มีผิวหนังปกติมากพอที่จะทำการทดสอบทางผิวหนังได้ บางครั้งเมื่อตรวจเลือดแล้วยังต้องตรวจยืนยันด้วยการทดสอบทางผิวหนัง

– การรักษาโรคภูมิแพ้

1. การรักษาด้วยยา ในปัจจุบันนี้ ยารักษาภูมิแพ้มีประสิทธิภาพสูง และสามารถใช้ได้ทั้งชนิดรับประทานและชนิดพ่นทางจมูก
ยารับประทาน ยาแก้แพ้หรือยาต้านฮีสตามีน (antihistamine) รุ่นใหม่มีประสิทธิภาพสูง และออกฤทธิ์ได้นานถึง 12-24 ชั่วโมง ยากลุ่มนี้ไม่ทำให้ง่วงนอน
ยาพ่นจมูก ยากลุ่มนี้ได้ผลดีมากเมื่อใช้ต่อเนื่องกัน สามารถลดอาการบวมและอักเสบของเยื่อจมูกได้ดี และลดการเกิดไซนัสอักเสบแทรกซ้อน

2. การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ คือการฉีดสารที่แพ้ทีละน้อยๆ และค่อยๆ เพิ่มจำนวนและยืดระยะเวลาออกไปจากทุกอาทิตย์ถึงทุกเดือน ส่วนมากคนที่ฉีดวัคซีนจะสามารถหยุดยาได้หมดหรือลดจำนวนยาลง เมื่อหยุดฉีดแล้วคนส่วนหนึ่งจะไม่กลับมามีอาการอีก และส่วนหนึ่งอาจมีอาการ แต่ระยะเวลาจากหยุดฉีดถึงกลับมีอาการจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับบุคคลและสารที่แพ้

– โรคภูมิแพ้รุนแรงแค่ไหน สามารถหายเองได้หรือไม่ ?
โรคภูมิแพ้สามารถรักษาให้หายได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดไหนด้วย เพราะในบางชนิดไม่มีทางรักษาให้หายได้ เช่น หากแพ้อาหาร ถ้าหยุดรับประทานอาหารชนิดนั้นไปสักระยะเวลาหนึ่งก็อาจจะหายขาดได้ สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้และโรคหืด โอกาสหายของโรคภูมิแพ้ชนิดนี้มีน้อยมาก ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการรักษาและความรุนแรงของโรคด้วย

– ผลกระทบและภาวะแทรกซ้อนจากโรคภูมิแพ้
ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อาจเสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ขึ้นด้วย เช่น โรคไซนัสอักเสบ ริดสีดวงจมูก ปวดหัวไมเกรน โรคหอบหืด โรคหูชั้นกลางอักเสบ และโรคผิวหนังอักเสบ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการหนักมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคโพรงจมูกอักเสบอันเป็นผลมาจากการเป็นภูมิแพ้หรือแพ้อากาศที่จะมีอาการแทรกซ้อนอย่างไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หรือนอนกรนได้บ่อย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนรบกวนการนอนหลับ ทำให้นอนหลับไม่สนิทหรือนอนไม่อิ่ม และในบางครั้งก็ส่งผลให้เกิดการหยุดหายใจในขณะหลับได้ นอกจากนี้ยังส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่กว่าเดิมอีกด้วย เนื่องจากฤทธิ์ของยารักษาโรคภูมิแพ้จะทำให้มีอาการง่วงนอนอยู่ตลอดเวลา จนมีผลกระทบต่อการเรียนหรือการทำงานในที่สุด

– ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ควรดูแลรักษาตัวอย่างไร
สิ่งสำคัญของคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ คือ ต้องดูแลตัวเองให้ดี เลี่ยงสิ่งที่แพ้ และใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการรุนแรงขึ้นหรือยาที่ใช้ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ผู้ป่วยควรรีบเข้าพบแพทย์ก่อนวันนัด รวมทั้งควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจดูว่ามีอาการแทรกซ้อนอะไรหรือไม่ และปรับการรักษาให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

– วิธีป้องกันโรคภูมิแพ้
1.หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ ควรเปิดหน้าต่างให้อากาศในห้องถ่ายเท ทำความสะอาดพื้นห้องเป็นประจำ 2.กำจัดสิ่งของที่ขึ้นรา หลีกเลี่ยงการกองทับของนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ และใช้เครื่องกำจัดไรฝุ่นและฝุ่นละอองภายในบ้าน ควันบุหรี่ ขนสัตว์ และเกสรดอกไม้
3.ดื่มน้ำให้มากเพื่อช่วยละลายเสมหะได้ และช่วยในการขับของเหลวออกจากร่างกาย โดยผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ควรดื่มน้ำไม่ต่ำกว่า 8 แก้วต่อวัน
4.นอนหลับให้เพียงพอและใช้ชีวิตอย่างมีระเบียบวินัย ไม่ควรทำงานหักโหมจนเกินไป เพราะสภาพร่างกายที่สมบูรณ์และการพักผ่อนที่เพียงพอมีส่วนช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานได้ดี และป้องกันโรคภูมิแพ้ได้
5.ออกกำลังกายแต่พอดีอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายสามารถช่วยให้ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้รับมือกับอาการแพ้ได้ โดยอาจเป็นการเดินเล่น ว่ายน้ำ หรือวิ่งเหยาะๆ แต่ไม่ควรออกกำลังกายอย่างหักโหมนานเกิน 90 นาที เพราะร่างกายจะปล่อยฮอร์โมนเครียดไปกดระบบภูมิคุ้มกันร่างกายเป็นเวลาหลายชั่วโมง ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อผู้ป่วยโรคภูมิแพ้
6.ระวังอาหารที่เป็นสาเหตุของโรคภูมิแพ้ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ที่ได้รับคำยืนยันจากแพทย์ว่ามีสาเหตุจากอาหาร ควรหยุดรับประทานอาหารนั้น ๆ
7.คงอุณหภูมิในห้องนอนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ควรปรับอุณหภูมิต่ำจนเกินไป และอาจใช้พัดลมช่วยให้อากาศในห้องถ่ายเทและรักษาอุณหภูมิให้คงที่ เพราะส่วนมากผู้ป่วยโรคภูมิแพ้มักจะมีความรู้สึกไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ
8.ปกป้องดวงตาจากสารก่อภูมิแพ้ ควรสวมแว่นตาเมื่อออกนอกบ้าน หากมีประวัติเป็นโรคเยื่อบุนัยน์ตาอักเสบจากภูมิแพ้ เพื่อป้องกันเกสรดอกไม้หรือฝุ่นละอองไม่ให้เข้าตา
9.รักษาสภาพจิตใจให้แจ่มใส ลดความเครียด ทำจิตใจให้สบาย เพราะความเครียดและสุขภาพจิตที่ไม่ดีจะส่งผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไปด้วย เป็นสาเหตุให้เกิดอาการแพ้ได้

– ผักและผลไม้ช่วยปรับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย
การรับประทานผักและผลไม้มีประโยชน์มากมาย สำหรับผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ก็เช่นเดียวกัน โดยมีงานวิจัยชี้ว่า การเน้นรับประทานผักผลไม้จะช่วยให้คุณต่อสู้กับโรคภูมิแพ้ได้ดีขึ้น เพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดและควบคุมอาการอักเสบจากโรคภูมิแพ้ได้

ขอขอบคุณรูปภาพจาก : sapaannet.blogspot.com

Facebook
Twitter
LinkedIn
Telegram
Pinterest
5/5
ประกันผู้สูงอายุ ดูแลสุขภาพ
ประกันสุขภาพ

แนะนำ ประกันสุขภาพ ในผู้สูงอายุ ที่น่าสนใจ มีค่ายไหนบ้าง อย่างไร

การเลือกซื้อประกันสุขภาพ แนะนำ ประกันสุขภาพในผู้สูงอายุ ที่น่าสนใจ มีค่ายไหนบ้างอย่างไร เพราะยิ่งอายุมากขึ้นเรายิ่งไม่ควรประมาทกับชีวิต