โรคมะเร็ง เป็นโรคร้ายใกล้ตัวที่สามารถเกิดได้ทุกส่วนของร่างกาย และคร่าชีวิตผู้ป่วยเป็นจำนวนมากในแต่ละปี อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่สูงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย โดยโรคมะเร็งที่พบมากที่สุด คือ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก เป็นต้น ซึ่งวิธีรักษาก็มีหลากหลาย ทั้งการบำบัดการใช้ยาเฉพาะ การฉายแสงเป็นต้น แต่ถ้าหากพบในระยะเริ่มต้นยังมีโอกาสที่จะรักษาให้หายได้ในระยะแรกๆ แต่หากตรวจพบในระยะสุดท้าย ยังไม่มีตัวยาที่จะสามารถรักษาให้หายขาดได้
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็ง
1.อายุ อายุที่เพิ่มขึ้นมีโอกาสเกิดมะเร็งได้มากขึ้น
2.บุหรี่ มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งปอด, มะเร็งกล่องเสียง, มะเร็งช่องปากและลำคอ, มะเร็งหลอดอาหาร, มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ, มะเร็งไต, มะเร็งกระเพาะอาหาร, มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งปากมดลูก
3.แสงแดด หรือแสงอัลตร้าไวโอเลต (UV) สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งผิวหนัง
4.รังสีในธรรมชาติ หรือเอกซเรย์ รังสีนิวเคลียร์ แก๊ซเรดอน หากได้รับปริมาณสูงเกินกำหนด สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งลิวคีเมีย มะเร็งไทรอยด์ มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด และมะเร็งกระเพาะอาหาร
5.สารเคมี เช่น asbestos, benzene, benzidine, cadmium, nickel หรือ vinyl chloride
6.เชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น เอชพีวี ไวรัส, ไวรัสตับอักเสบบี ซี, ไวรัสเอชไอวี เป็นต้น
7.การได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจน สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเต้านม
8.ประวัติครอบครัวเป็นมะเร็ง มะเร็งบางชนิดสัมพันธ์กับความผิดปกติของสารพันธุกรรม ที่เรียกว่า “ยีน” อย่างไรก็ดีมะเร็งที่ถ่ายทอดในครอบครัวพบได้เป็นสัดส่วนน้อย
9.แอลกอฮอล์ สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งช่องปากและลำคอ มะเร็งทางเดินอาหาร มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งตับ และมะเร็งเต้านม
10.วิถีการดำเนินชีวิตบางอย่าง เช่นการกินอาหารไขมันสูง สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งลำไส้ มะเร็งโพรงมดลูก และมะเร็งต่อมลูกหมาก ความอ้วนหรือออกกำลังกายน้อย สัมพันธ์กับมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่
มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งไต และ มะเร็งโพรงมดลูก
การป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดโรคมะเร็งคือ
1. หยุดสูบบุหรี่, เหล้า, หมาก, ยาเส้น ฯลฯ หากดื่มเหล้า ไม่ควรเกิน 1-2 แก้ว/วัน
2. หลีกเลี่ยงปัจจัยภายนอกที่ก่อมะเร็ง (ดูในบทความ)
3. ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี หากยังไม่มีภูมิคุ้มกันหากท่านไม่แน่ใจ แพทย์สามารถตรวจว่าท่านมีภูมิคุ้มกันแล้วหรือไม่
4. ไม่สำส่อนทางเพศ ไม่ใช้ยาเสพติดที่ฉีดเข้าเส้น เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี และซี และไวรัสเอชพีวี
5. ปกป้องตัวเองจากแสงแดดจัด ด้วยการใส่เสื้อผ้าปกปิด และทายากันแดด
6. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ไหม้เกรียม อาหารดิบๆ สุกๆ และเมล็ดพืชเก่าเก็บที่อาจจะมีการปนเปื้อนเชื้อราได้
7. ควบคุมน้ำหนัก
8. ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ
9. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นอาหารจากพืชมากขึ้นทั้งผักและผลไม้ เลือกรับประทานอาหารที่ไม่ผ่านการขัดสีให้มากขึ้น ลดปริมาณอาหารที่ไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันจากสัตว์
10. ตรวจร่างกายโดยแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และทำการตรวจพิเศษเพื่อหามะเร็งระยะแรกเริ่มตามความเหมาะสม
มะเร็งเกิดจากสาเหตุหรือปัจจัยหลายๆ อย่างร่วมกัน ดังนั้น หากสามารถหลีกเลี่ยงหรือละเว้นสิ่งเหล่านี้ได้ก็ควรทำ นอกจากนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็มีความสำคัญได้แก่ การออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ และเลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ มีผักผลไม้เป็นส่วนประกอบสำคัญให้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าห้ามรับประทานเนื้อสัตว์เลย เพราะไม่มีหลักฐานใดๆ ที่ชัดเจนที่บ่งชี้ว่าเนื้อสัตว์หรือโปรตีนจากสัตว์ทำให้เกิดมะเร็ง แน่นอนถึงแม้ท่านจะทำทุกอย่างที่กล่าวมาแล้วก็ยังมีโอกาสเป็นมะเร็งได้ ดังนั้น กลยุทธ์อีกอย่างหนึ่งที่ควรทำควบคู่กันไป คือการตรวจร่างกาย และ/หรือตรวจพิเศษเพิ่มเติมตามความเหมาะสมกับเพศและวัยเพื่อคัดกรองหามะเร็งระยะแรกเริ่ม ซึ่งสามารถให้การรักษาได้ผลดี และมีโอกาสหายขาดได้ มะเร็งที่มีวิธีตรวจคัดกรองที่ได้ผลดี ได้แก่ มะเร็งเต้านม, มะเร็งปากมดลูก, มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งตับ ส่วนมะเร็งผิวหนังและมะเร็งในช่องปากสามารถตรวจพบได้จากการตรวจร่างกายอย่างละเอียดได้ โปรดปรึกษากับแพทย์ที่ดูแลท่าน เพื่อคำแนะนำที่เหมาะสมเกี่ยวกับการตรวจเหล่านี้
ขอขอบคุณรูปภาพจาก : Ampro health