โรคเก๊าท์หรือโรคข้ออักเสบ

โรคเกาต?์

โรคเก๊าท์เป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในเพศชาย ผู้ป่วยจะมีอาการปวดที่ข้ออย่างฉับพลัน รวมถึงมีอาการข้อแข็งและบวม ซึ่งมักจะเป็นที่นิ้วหัวแม่เท้า ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาการของโรคเก๊าท์ก็จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และอาจเป็นอันตรายต่อข้อต่อ เส้นเอ็น และเนื้อเยื่ออื่น ๆ ได้

โรคเก๊าท์เกิดจากร่างกายมีกรดยูริกในเลือดสูงกว่าปกติ และมีการสะสมกรดยูริกเป็นระยะเวลายาวนานหลายปี จึงทำให้กรดยูริกตกตะกอน สะสมอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ถ้าสะสมมากที่ข้อต่อก็จะเกิดอาการข้อต่ออักเสบ และปวด แดง ร้อนบริเวณข้อต่อ ถ้ากรดยูริกสะสมอยู่ตามผิวหนังมาก จะส่งผลให้เกิดปุ่มนูนขึ้นตามผิวหนัง ถ้ากรดยูริกสะสมที่ไตมาก ก็จะเกิดเป็นโรคนิ่วในใตและเกิดอาการไตเสื่อม เป็นต้น

– อาการของโรคเก๊าท์

อาการปวดอย่างรุนแรงตามข้อต่อเป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะนิ้วหัวแม่เท้า แต่ก็สามารถเกิดกับข้อต่อหลายส่วนตามร่างกายได้ เช่น ข้อเท้า ข้อศอก หัวเข่า ข้อต่อกระดูกมือ หรือข้อมือ อาการปวดจะรุนแรงในช่วง 4-12 ชั่วโมงแรก จากนั้นจะเริ่มปวดน้อยลงและมีอาการดีขึ้นภายใน 7-10 วัน แต่ในบางรายอาจมีอาการปวดได้นานหลายวันจนถึงหลายสัปดาห์ นอกจากนี้ยังมีอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นได้ เช่น

ข้อต่อเกิดการอักเสบและติดเชื้อ อาจเกิดขึ้นกับข้อต่อเพียงข้อเดียวหรือหลายข้อต่อ จนทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นเป็นสีแดง บวมแดง และแสบร้อน
เคลื่อนไหวร่างกายได้ไม่สะดวกจากภาวะข้อติด ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกความรุนแรงของโรคที่เพิ่มมากขึ้น
ผิวหนังบริเวณข้อต่อเกิดการลอกหรือคันหลังจากอาการของโรคดีขึ้น
อาการของโรคเหล่านี้จะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน มักเป็น ๆ หาย ๆ จนกว่าจะได้รับการรักษา โดยมักเกิดขึ้นในเวลากลางคืนได้บ่อยกว่าช่วงเวลาอื่น อย่างไรก็ตามควรรีบไปพบแพทย์หากผู้ป่วยมีไข้ ปวดข้ออย่างรุนแรง จนทำให้ผิวหนังบวมแดงและแสบร้อนขึ้น เพราะอาการปวดข้ออาจทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิดได้ว่าเป็นสัญญาณของโรคข้ออื่น ๆ การปล่อยให้โรคพัฒนารุนแรงขึ้นโดยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจนำไปสู่อาการปวดอย่างเรื้อรังและสร้างความเสียหายให้กับข้อต่อได้

– สาเหตุของโรคเก๊าท์
โรคเก๊าท์เกิดจากการมีกรดยูริกในเลือดมากเกินไป (hyperuricemia) ซึ่งสาเหตุของภาวะกรดยูริกในเลือดสูงมีคำอธิบายที่ยังไม่ชัดเจน แต่มีความเชื่อว่าปัจจัยทางด้านพันธุกรรมน่าจะมีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าว

เมื่อกรดยูริกในเลือดสูงขึ้น อาจตกผลึกในข้อต่อ ซึ่งจะกระตุ้นกระบวนการในระบบภูมิคุ้มกัน และก่อให้เกิดการอักเสบ รวมถึงอาการปวดและบวมของข้อต่อ

แม้ว่าสาเหตุที่แท้จริงของโรคเก๊าท์ยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด แต่ปัจจัยเสี่ยงบางอย่างพบว่าเกี่ยวข้องกับการเพิ่มขึ้นของกรดยูริกโดยตรง ได้แก่

-การมีน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐาน
-การกินอาหารที่มีพิวรีน (purine) สูง เช่น เนื้อสัตว์และอาหารทะเล เนื่องจากพิวรีนสามารถเปลี่ยนเป็นกรดยูริกได้ภายในร่างกาย
-ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
-ยาบางชนิดที่อาจเพิ่มระดับของกรดยูริก เช่น แอสไพริน (aspirin) ไนอาซิน (niacin) หรือการใช้ยาขับปัสสาวะ (diuretics)
-ความเจ็บป่วยหรือสภาวะทางการแพทย์บางประการ เช่น การลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วหรือโรคความดันโลหิตสูง

– กรดยูริกคืออะไร
กรดยูริกเป็นสารที่เกิดจากร่างกายของเรา สามารถสร้างขึ้นได้เองถึง 80% ในร่างกาย ส่วนอีก 20% ที่เหลือจะได้มาจากกินอาหารที่มีสารพิวรีนเข้าไป โดยสารพิวรีนสามารถพบได้ในอาหารจำพวกสัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ พืชผักบางชนิด และอาหารทะเลบางอย่าง

– ถ้าหากในร่างกายมีกรดยูริกมากเกินไป
ตามปกติแล้วร่างกายจะขับกรดยูริกที่เกินความจำเป็นออกไปได้ทางปัสสาวะ แต่ในร่างกายของบางคนไม่สามารถขับกรดยูริกออกไปได้หมด จึงเกิดกรดยูริกสะสมในร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณของกระดูก ผนังหลอดเลือด และไต (ที่เป็นตัวฟอกเลือด+ขับกรดยูริกไปทางปัสสวะ) ดังนั้น การขับกรดยูริกออกไปไม่หมดจนตกตะกอนมาก ๆ จึงกลายเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคเก๊าท์

– อาการและการวินิจฉัยโรคเก๊าท์
การทดสอบและการวินิจฉัยโรคเก๊าท์
เก๊าท์เป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยาก เนื่องจากอาการปวดข้อของโรคเก๊าท์มีลักษณะคล้ายกับโรคอื่นหลาย ๆ โรค หากอยู่ดี ๆ เกิดการปวดกำเริบขึ้นอย่างฉับพลันโดยไม่มีสาเหตุ แพทย์มักจะสงสัยว่าเป็นโรคเก๊าท์

– การทดสอบโรคเก๊าท์ทำได้โดย

การตรวจน้ำไขข้อ ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการวินิจฉัยโรคเก๊าท์ น้ำไขข้อเป็นสารที่มีลักษณะข้น สีใส อยู่ภายในข้อ อาจมีการฉีดยาชาเข้าสู่บริเวณที่ต้องการก่อนตรวจ หัตถการนี้มักใช้เวลาเพียง 1-2 นาที ซึ่งแพทย์จะแทงเข็มเข้าไปที่ช่องว่างภายในข้อเพื่อดูดน้ำไขข้อบางส่วนออกมา ก่อนจะนำตัวอย่างนั้นไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ จากนั้นนักเทคนิคการแพทย์จะตรวจสอบน้ำไขข้อเพื่อหาสัญญาณของโรค เช่น การตรวจว่ามีระดับกรดยูริกสูงหรือไม่ หรือตรวจว่ามีกรดยูริกตกผลึกอยู่หรือไม่

– การตรวจกรดยูริกในเลือด เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคเก๊าท์

วิธีนี้เป็นวิธีที่แพทย์มักแนะนำ เนื่องจากกรดยูริกเป็นสารเคมีที่มักพบได้ในกระแสเลือดจากการย่อยสลายอาหารบางชนิด ผู้ที่เป็นโรคเก๊าท์โดยส่วนมากมีกรดยูริกในกระแสเลือดมากเกินไป

แม้การตรวจระดับกรดยูริกในเลือดจะเป็นการวินิจฉัยโรคเก๊าท์ที่ดี แต่การที่ไม่พบว่ากรดยูริกสูงก็ไม่ได้ยืนยันว่าปลอดจากโรคเก๊าท์ ในทางกลับกันการที่กรดยูริกสูงก็ไม่ได้แปลว่าต้องเป็นโรคเก๊าท์เสมอไป อย่างไรก็ตาม หากตรวจแล้วมีกรดยูริกต่ำ ก็ขอให้ผู้ป่วยสบายใจได้ เนื่องจากโดยส่วนมากแล้วแปลว่าไม่ได้เป็นโรคเก๊าท์

– การตรวจกรดยูริกในปัสสาวะ

หากคุณได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเก๊าท์ แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจกรดยูริกในปัสสาวะ การตรวจนี้จะช่วยติดตามการเกิดนิ่วในไต ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคเก๊าท์ในผู้ป่วยบางราย

– การรักษาและป้องกันโรคเก๊าท์
เป้าหมายของการรักษาโรคเก๊าท์ คือ การบรรเทาอาการปวดให้หายไปอย่างรวดเร็ว ป้องกันการเกิดเป็นซ้ำ รวมถึงการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เช่น ความเสียหายของข้อต่อและไต การรักษาด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงการใช้ยาสามารถป้องกันการกำเริบของโรคเก๊าท์ได้ในอนาคต

– การรักษาโรคเก๊าท์ในระยะแรก
ในช่วงแรกที่โรคเก๊าท์แสดงอาการ วิธีรักษาเบื้องต้นคือแพทย์จะให้ผู้ป่วยกินยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ และให้ผู้ป่วยดูแลตัวเองด้วยการ งดกินอาหารที่จะทำให้เกิดกรดยูริกสูงในกระแสเลือด รวมถึงงดการดื่มแอลกอฮอล์ จากนั้นให้ผู้ป่วยดื่มน้ำสะอาดเยอะ ๆ จะช่วยให้ร่างกายสามารถขับกรดยูริกให้ออกมาพร้อมกับปัสสาวะได้มากขึ้น นอกจากนี้การดื่มนมสดก็สามารถช่วยลดกรดยูริกในร่างกายได้ ในกรณีที่รักษาและดูแลตัวเองในเบื้องต้นแล้ว ยังมีอาการกำเริบมากกว่า 2 – 3 ครั้งต่อปี อาจต้องเข้ารักษากับแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับยาลดกรดยูริกเป็นกรณีพิเศษ
-การรักษาโรคเก๊าท์แบบเฉียบพลัน
-พักการใช้ข้อที่มีภาวะอักเสบ
-ใช้น้ำแข็งประคบเพื่อลดอาการบวม
-ใช้ยาแก้ปวดในทันทีที่อาการของเก๊าท์กำเริบ ได้แก่ ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ยาโคลชิซีน (colchicine) รวมถึงยาสเตียรอยด์แบบรับประทาน (oral corticosteroids)

– อาหารที่ควรงด
เนื่องจากโรคเก๊าท์เป็นโรคที่เกิดจากการกินอาหาร การใช้ชีวิต ดังนั้นหากจะแก้ไขต้องแก้ที่ต้นเหตุ คือการหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีสารพิวรีนสูง ได้แก่อาหารต่อไปนี้
-เห็ด
-เนื้อสัตว์ปีกทุกชนิด
-เครื่องในสัตว์ทุกชนิด
-ไข่ปลา
-ปลาดุก ปลาไส้ตัน ปลาซาร์ดีน
-กุ้ง
-ผักชะอม ผักกระถิน ผักสะเดา
-กะปิ
-น้ำต้มกระดูก
-ซุปก้อน

ขอขอบคุณรูปภาพจาก : chiangmairam.com

Facebook
Twitter
LinkedIn
Telegram
Pinterest
5/5
สุขภาพกับโรคซึมเศร้า
สุขภาพ

สุขภาพกับโรคซึมเศร้า มหันตภัยที่ส่งผลกระทบต่อคนไทย

สุขภาพ กับ โรคซึมเศร้า มหันตภัย ที่ส่งผลกระทบต่อคนไทย ปัจจุบันคนไทยมีภาวะของการป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามากขึ้น การเข้าใจโรค และร่วมกันดูแลเป็นสิ่งสำคัญ