โรคเบาหวานแล้วหลายคนอาจส่ายหน้าและรู้สึกกลัว แต่ที่น่ากลัวยิ่งกว่าก็คือ โรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่ตามมา ที่ล้วนแต่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเป็นส่วนใหญ่ และที่อยู่ในอันดับต้น ๆ คือ “โรคไตจากเบาหวาน” ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด “โรคไตวาย” เป็นอันดับหนึ่ง ในประเทศไทย ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้โรคไตจากเบาหวานมาย่างกราย เราควรรู้เท่าทันเพื่อป้องกันโรคกันนะค่ะ
โรคเบาหวานลงไต ( Diabetic Kidney Disease, DKD ) เป็นโรคหนึ่งที่ผู้ป่วยอาจจะมีการเกิดภาวะของโรคแทรกซ้อนต่างๆได้มากมายหลายโรค ซึ่งโรคไตวายเรื้อรังก็เป็นภาวะแทรกซ้อนชนิดหนึ่งที่ผู้ป่วยเบาหวานหลายคนต้องเจอ โดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 30 – 40 ของผู้ ป่วยไตวายทั้งหมด จะมีสาเหตุมาจากโรคเบาหวานลงไต โดยสาเหตุของไตวายเฉียบพลันที่สำคัญ คือ การที่มีภาวะเลือดหรือสารน้ำไปเลี้ยงไตน้อยลง การได้รับยาหรือสารพิษต่างๆที่ไปส่งผลกระทบต่อการทำงานของไต ส่วนสาเหตุอื่นที่ทำให้เป็นโรคไตวายเรื้อรังนอกจากโรคเบาหวานก็มี เช่น การอักเสบเรื้อรังของตัวกรองของไตหรือหลอดไต มีความดันโลหิตสูง การอุดตันของระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น โดยปกติร่างกายคนเราจะมีไต 2 ข้าง เป็นอวัยวะที่มีรูปร่างคล้ายถั่วคอยทำหน้าที่หลักๆในร่างกาย 2 ประการ
-โรคไตจากเบาหวาน
เมื่อเป็นโรคเบาหวานและไม่สามารถควบคุมน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีได้ ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเป็นระยะเวลานานก็จะก่อให้เกิดอันตรายต่อเซลล์ที่บริเวณอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตา ระบบประสาทส่วนปลาย ไต หัวใจและหลอดเลือด
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไตจากเบาหวาน นอกจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงจนเกิดอันตรายต่อเซลล์ที่ไตแล้ว ยังทำให้เกิดความดันในหลอดเลือดฝอยในไต และอัตราการกรองของไตสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อไต
-โรคเบาหวานลงไตมีกี่ระยะ?
โรคเบาหวานทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไตเป็นขั้นตอนตามลำดับ 5 ระยะ ดังนี้
โรคเบาหวานลงไต ระยะที่ 1 ในระยะแรกของผู้ป่วยจะยังไม่มีอาการใดๆ ที่แสดงออกให้ผู้ป่วยทราบ เป็นระยะที่ไตมีขนาดใหญ่ขึ้น เลือดไปเลี้ยงไปเลี้ยงไตมากขึ้น โดยจะเกิดขึ้นทันทีเมื่อเริ่มเป็นโรคเบาหวาน
โรคเบาหวานลงไต ระยะที่ 2 จะเกิดขึ้นหลังจากที่เป็นโรคเบาหวานประมาณ 2 ปี แต่ก็ยังไม่แสดอาการใดๆให้ผู้ป่วยทราบเหมือนระยะที่ 1 ในระยะนี้จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิสภาพที่ตัวกรองของไต หรือไตไม่สามารถรักษาสมดุลของตัวเองได้
โรคเบาหวานลงไต ระยะที่ 3 ระยะนี้จะเกิดขึ้นหลังจากเป็นโรคเบาหวานมาแล้ว 10 – 15 ปี ร่างกายของผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการผิดปกติแสดงออกมา เช่น ตรวจพบไข่ขาวหรือโปรตีนปริมาณน้อยในปัสสาวะและจะมีปริมาณค่อยๆเพิ่มขึ้นในทุกๆปีเริ่มมีความดันโลหิตสูง มักจะเกิดขึ้นภายหลังการตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะเป็นเวลา 2 ปีแต่การตรวจเลือดหาค่าบียูเอ็นและค่าครีเอตินีน เพื่อดูหน้าที่ของไตยังให้ผลอยู่ในเกณฑ์ปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
โรคเบาหวานลงไต ระยะที่ 4 จะเกิดขึ้นหลังจากป่วยเป็นโรคเบาหวานมาแล้ว 15-25 ปี โดยผู้ป่วยประมาณ ร้อยละ 25-40 สามารถตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะมากกว่า 0.5 กรัมต่อวัน ในระยะนี้จะเริ่มมีการเสื่อมของไตอย่างต่อเนื่องมากกว่าคนปกติ โดยคนปกติที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ไตจะเสื่อมร้อยละ 1 ต่อปี แต่ในผู้ป่วยเบาหวานที่มีโรคไตจะมีการเสื่อมของไตมากถึง ร้อยละ 10 หากปล่อยให้การทำงานของไตลดลงเหลือเพียงร้อยละ 20 ของภาวะปกติ จะมีของเสียคั่งค้างมากในร่างกาย จนผู้ป่วยจะเกิดอาการ เช่น คลื่นไส้อาเจียนเบื่ออาหาร ไม่มีแรง รู้สึกหนาวง่าย อาการเหล่านี้จะเพิ่มมากขึ้นหากผู้ป่วยมีอาการซีดเนื่องจากปริมาณเม็ดเลือดแดงต่ำลงกว่าปกติ
โรคเบาหวานลงไต ระยะที่ 5 ระยะนี้เรียกว่าเป็นระยะของไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งการทำงานของไตจะลดลงจนเหลือไม่ถึงร้อยละ 5 จะมีของเสียตกข้างที่ร่างกายจำนวนมากค่าบียูเอ็นสูงกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ค่าครีเอตินีนสูงกว่า 10 มิลลิกรัม/เดซิลิตรส่วนอาการที่จะพบและสังเกตได้จากผู้ป่วยคือ ซึม ไม่รู้ตัวปัสสาวะลดลงจนเกือบไม่มี หากปล่อยไว้อาจจะเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างเร่งด่วน โดย การล้างไต เป็นต้น
แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานทุกคนก็อย่าเพิ่งตกใจไป ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานจะไม่ได้มีอาการแทรกซ้อนจากโรคไตวายทุกคน จะขึ้นอยู่ขึ้นกับปัจจัยต่างๆ เช่น ระดับน้ำตาลในเลือด เชื้อชาติ ประวัติครอบครัวและความแตกต่างทางพันธุกรรม เป็นต้น
-การป้องกันและดูแลโรคไตจากเบาหวาน
1. ควบคุมน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีโดยมีระดับน้ำตาลสะสม ( HbA1C ) น้อยกว่าร้อยละ 7 การควบคุมน้ำตาลสามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคไตจากเบาหวาน ลดปริมาณอัลบูมินในปัสสาวะ นอกจากนี้ยังช่วยลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
2. ควบคุมความดันโลหิตให้ต่ำกว่า 130/80 มิลลิเมตรปรอท โดยจำกัดเกลือที่รับประทานให้น้อยกว่า 2 กรัมต่อวัน หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็ม ในกรณีที่ใช้ยาลดความดันโลหิตควรใช้กลุ่ม ACEI หรือ ARB เป็นอันดับแรก ประโยชน์ของการควบคุมความดันโลหิต คือ ช่วยลดการเกิดโรคไตจากเบาหวาน ลดปริมาณอัลบูมินในปัสสาวะ ช่วยชะลอการเสื่อมของไต ช่วยลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
3. ควบคุมไขมันไม่ดีชนิดแอลดีแอล ( LDL ) ให้น้อยกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ในผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสูง การควบคุมไขมันไม่ดีชนิดแอลดีแอลช่วยลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ยังอาจช่วยลดอัลบูมินในปัสสาวะและอาจชะลอการเสื่อมของไต
4. จำกัดโปรตีนในอาหาร อาจช่วยชะลอการเสื่อมของไต โดยปริมาณโปรตีนที่เหมาะสม คือ 0.8 กรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ซึ่งสามารถขอคำปรึกษากับนักกำหนดอาหารหรือแพทย์ในสถานพยาบาลที่ท่านรักษาเพื่อขอคำแนะนำปริมาณโปรตีนตามที่เหมาะสม
5. เลิกสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด เพราะหากยังดื้อสูบต่อไป จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตจากเบาหวานและทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น แถมยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
6. ระมัดระวังการรับประทานยาแก้ปวดลดการอักเสบกลุ่มเอ็นเสด (NSAID) เพราะอาจทำให้เกิดไตวายหรือการทำงานของไตลดลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ผู้ป่วยโรคไตจากเบาหวานที่มีการทำงานของไตลดลงควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยา
7. ถ้ามีอาการผิดปกติของทางเดินปัสสาวะ ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลเพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาต่อไป เช่น ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไม่สุด ปัสสาวะแสบขัด ภาวะเหล่านี้อาจซ้ำเติมให้โรคไตจากเบาหวานแย่ลง
ความเสี่ยงต่อชีวิต ที่ผู้ป่วยโรคไตจากเบาหวานไม่ควรทำ
– ละเลยที่จะไปพบแพทย์ตามนัดปล่อยให้การรักษาขาดช่วง
– ไม่ปฏิบัติตามแผนการรักษา เช่น ไม่ควบคุมอาหาร รับประทานยาไม่สม่ำเสมอ
– รับประทานยาหม้อ ยาสมุนไพร เพื่อรักษาโรคเบาหวานและหรือโรคไตโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์
ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานไม่จำเป็นต้องเป็นโรคไตวายทุกคน แต่ทั้งนี้หากรู้ตัวว่าเป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว ก็ควรหมั่นสำรวจร่างกายตัวเองว่ามีความผิดปกติเกี่ยวกับโรคไตวายหรือไม่อย่างไร หากมีอาการควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว และที่สำคัญต้องอย่าลืมดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอนะคะ
ขอขอบคุณรูปภาพจาก : Ampro health