ไถเฟซบุ๊คบ่อย เลื่อนไอจีเก่ง
มารเงียบทำลายสุขภาพจิต
ไถเฟซบุ๊คบ่อย เลื่อนไอจีเก่ง มารเงียบทำลาย สุขภาพจิต ปัจจุบันสุขภาพร่างกายแข็งแรงไม่พอ สุขภาพจิต ก็ต้องแกร่งตามด้วย เพราะตอนนี้เรามักเห็นภาพยนตร์ที่อิง ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว อยู่เป็นจำนวนมาก
ส่วนในประเทศไทยของเรา ก็พบวัยรุ่นอายุ 10 – 19 ปี มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าสูงร้อยละ 44 หรือประมาณ 3 ล้านกว่าคน จากจำนวนวัยรุ่นทั้งหมดประมาณ 8 ล้านคน อัตราป่วยร้อยละ 18 ซึ่งคาดว่าป่วยไปแล้ว 1 ล้านคน ถือว่าไม่ใช่ตัวเลขน้อยๆ เลยนะคะเนี่ย
พล็อตหนังที่หยิบประเด็นเรื่องโซเชียลมีเดีย
unfriend
หนังสยองขวัญ ที่ต้นตอของเรื่องเกิดจาก การแกล้งของเพื่อนในพื้นที่โซเชียลมีเดีย เป็นเหตุให้เกิดการฆ่าตัวตายเกิดขึ้น จนกระทั่งเหตุการณ์นั้นผ่านไป 1 ปี ก็เกิดเรื่องแปลกๆ ขึ้น ในหมู่เพื่อน
โดยภาพยนตร์ได้เล่นกับพื้นที่โซเชียลมีเดีย มีการแชทผ่าน สไกด์ หรือแม้กระทั่งพื้นที่ เฟซบุ๊ค ซึ่งเป็นภาพยนตร์สยองขวัญแนวใหม่ ที่ต้องการสื่อว่า โซเชียลมีเดียก็เป็นพื้นที่ที่อันตรายถึงแก่ชีวิตได้เช่นกัน
Searching
เรื่องราวของพ่อที่พยายามตามหาลูกสาวที่สูญหายตัวไป ด้วยการแกะรอยหลักฐานบนโลกโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ค อีเมล และเว็บไซต์ต่างๆ ที่ลูกสาวของตัวเองได้ทิ้งเบาะแสเอาไว้
โดยภายในตัวอย่างภาพยนตร์จะเห็นว่า นิสัยลูกสาวตัวจริงและบนโซเชียลมีเดียมีความแตกต่าง ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้จะเข้าฉายวันที่ 3 ส.ค. 2561 ใครอยากรู้ว่าเรื่องจะเป็นอย่างไร จะหาลูกสาวเจอหรือไม่ แล้วพื้นที่โซเชียลมีเดียมีส่วนเกี่ยวข้องอะไร ต้องไปดู
โซเชียลมีเดียกับอิทธิพลต่อความคิดผู้เล่น
อย่างที่เรารู้กันว่าสังคมไทยและทั่วโลก ต่างมีโลกโซเชียลมีเดียกันทั้งนั้น ซึ่งข้อดีของโซเชียลมีเดียทำให้โลกของเราแคบลง ไวขึ้น เราสามารถรับรู้ได้ทันทีว่าเพื่อนของเราทำอะไรอยู่ อยู่ที่ไหน
แต่รู้ไหมคะ ว่าโซเชียลมีเดีย กลับเป็นตัวร้าย เป็นสาเหตุของการป่วยจิตได้เลยนะคะ ยิ่งใครที่ติดโซเชียลมีเดียหนักๆ ไถเฟซบุ๊ค เล่นไอจี ตลอดๆ ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าได้ไม่น้อยเลย
โดยภัยเงียบที่ผู้เสพโซเชียลมีเดียหนักๆ และมีเกณฑ์ป่วยจิต จะมีอาการและความรู้สึกที่อาจเป็นต้นเหตุของโรคซึมเศร้าดังนี้
อารมณ์ความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงอย่างไว
เพราะอารมณ์ของเราจะถูกเหวี่ยงขึ้นเหวี่ยงลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่ต่างจากยุคโทรทัศน์ที่คนสามารถเปลี่ยนอารมณ์ไปตามช่องโทรทัศน์ที่เราเปลี่ยน อย่างเช่น ดูละครตลกอยู่ เปลี่ยนช่องไปเจอข่าวสลด จากอารมณ์ตลกก็เปลี่ยนเป็นอารมณ์เศร้า
ซึ่งความรู้สึกของเราจะปลี่ยนเร็วมาก เมื่ออยู่บนโซเชียลมีเดีย เพราะเพียงแค่นิ้วเราไถขึ้นไถลง เราสามารถรับรู้ข่าวสารหลากอารมณ์ด้วยกัน และเป็นอารมณ์ที่อยู่บนฐานความคิดของตัวเอง จึงก่อให้เกิดความไม่เสถียรทางอารมณ์ของคนในยุคปัจจุบัน
ความรู้สึกเหงา
ใครที่ใช้โซเชียลมากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน มีแนวโน้มทำให้เหงามากกว่าคนปกติถึง 2 เท่า ซึ่งมีนักวิทยาศาสตร์หลายคนได้สำรวจอาการ พฤติกรรม และความรู้สึก ซึ่งคนที่ใช้โซเชียลบ่อย มีผลออกมาว่าพวกเขามีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับสังคมลดลง ปฏิสัมพันธ์แย่ลง เกิดความรู้สึกเหงา จนถึงขั้นเก็บตัว
โทษตัวเอง ดูถูกตัวเอง
อีกทั้งเวลาที่เห็นคนอื่นโพสรูป เช็คอิน เห็นคนอื่นมีชีวิตที่ดี เที่ยวต่างประเทศ แต่ตัวเองกลับนั่งทำงานอยู่ในออฟฟิศ จนทำให้คนเหล่านี้เกิดความรู้สึกอิจฉา เกิดความรู้สึกดูถูกตัวเอง โทษตัวเอง รู้สึกไร้ค่า ซึ่งหากถึงขั้นร้ายแรงอาจเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าได้
ถึงแม้จะมีหลายคนบอกว่า พื้นที่โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล แต่ในเมื่อเราโพสอะไรลงไปทุกคนย่อมเห็นสิ่งที่เรากำลังทำ ถึงจุดนี้เรายังสามารถเรียกโซเชียลมีเดียว่าพื้นที่ส่วนบุคคลได้อยู่หรือไม่ เราก็ต้องมาคิดกันอีกที
ทั้งนี้เราไม่สามารถบังคับใครให้เลิกโพสต์รูปถ่าย หรือเช็คอินได้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวเรา เราจะเก็บเรื่องเหล่านั้นมาคิด หรือจะหยุดคิด แล้วออกไปอยู่ในโลกของความจริงมากกว่าโลกโซเชียล หากิจกรรมที่เราทำแล้วมีความสุข เชื่อว่าถ้าเรามีสุขภาพจิตที่แข็งแรง โรคซึมเศร้าไม่เข้ามาหาเราอย่างแน่นอนค่ะ